Friday, June 15, 2018

เชื่อมโยง เปิดรับ ตั้งแกน

 ตั้งแกน



"ว่ากันว่าวิชากระบี่ต้องฝึกฝนกันชั่วชีวิต จิตใจก็เช่นเดียวกัน การที่จะทันและใช้งานพลังภายในที่มีอยู่ได้ ต้องผ่านการขัดเกลาฝึกฝนตลอดเวลา"

บทความนี้จะเล่าถึงการเดินป่านิเวศภาวนา ที่จะพาพวกเราได้กลับไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ขจัดเขม่าทางความคิดในชีวิตของเราออกไป การละครเพื่อเปิดรับสัญญาณที่อยู่รอบตัว เพื่อเปิดรับประสาทสัมผัสที่ขาดการใช้งานเมื่อเราอาศัยอยู่ในเมือง สุดท้ายจบด้วยไทเก๊ก ไทเก๋ การประยุกค์เอาศาสตร์ที่มีรากฐานของเต๋าเข้ามาปรับใช้ชีวิตได้อย่างลงตัว การก้าวกระโดดจากการเปลี่ยน Power เป็น Force มันคืออะไรและให้ผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะเริ่มทั้งหมดขอขอบคุณมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มา ณ ที่นี้ด้วยที่ให้โอกาสข้าพเจ้าได้เรียนรู้บทเรียนอันมีค่านี้ และการเดินทางในบทความต่อจากนี้คือการเติบโตจากผืนดินแห่งนี้

พวกเราเดินทางมายังค่ายเยาวชนเชียงดาว สถานที่ซึ่งมองเห็นดอยหลวงเชียงดาว อย่างชัดเจนหากแต่ดอยแห่งนี้ขี้อายเสียหน่อยหากได้เห็นก็จะเห็นไม่นานแล้วเธอก็จะหลบซ้อนอยู่หลังเมฆ หมอกอีกครั้ง เราตั้งธีมในครั้งนี้ว่าเป็นการเยียวยา หลายคนมีจุดเปลี่ยนในชีวิตเช่นออกจากงานเดิม เป็นเพราะค่ายนี้ทำให้เราเห็นตัวเองชัดขึ้นจึงเริ่มเดินทางต่อกันหลายคน หรือบางคนเพิ่งเรียนจบใหม่กำลังอยู่ในช่วงที่ชีวิตยังไม่แน่นอน การตั้งแกน ตั้งหลักใหม่เป็นสิ่งที่พวกเราหลายคนในที่นี้ได้กลับไปจากค่าย 5 วัน 4 คืนในที่แห่งนี้

การเดินป่านิเวศภาวนา

การอยู่ที่นี้เราได้ยินเสียงสายฝนแทบจะทั้งวัน เสียงแมลง นกและสายลม ผมสังเกตตัวเองจิตใจเข้าสู่สภาวะเสถียรได้อย่างรวดเร็ว หากสติหลุดเมื่อไรผมจะหันหน้าไปมองสีเขียวของป่าและมองก้อนเมฆที่เคลื่อนผ่านภูเขาและท้องฟ้า ฟังเสียงหยดน้ำฝนและมองมันเริงระบำตกกระทบผืนดิน เอาเท้าไปสัมผัสหญ้าที่กำลังชุ่มน้ำและแช่ไปกับสายน้ำที่ไหลจากภูเขาที่เหลือจากป่ากักเก็บน้ำไว้ มองดูแมลงแปลกตาที่เห็นเพียงในหนังสือสารานุกรมภาพสี่สีตอนวัยเด็ก

พี่นิคม ลุ่มแม่น้ำปิงเป็นคนพาพวกเราเดินเข้าไปยังเส้นทางธรรมชาติ ไปพร้อมกับเมล็ดมะค่าที่หน้าตาเหมือนยางลบสมัยก่อนที่มีสองสีลบได้ทั้งดินสอและปากกา เพื่อนำไปปลูกในป่าระหว่างทางเป็นการอนุรักษ์ป่าด้วยวิธีดั่งเดิม เส้นทางที่พวกเราเลือกเดินในครั้งนี้เป็นเส้นทางเรียบแม่น้ำ ที่จะพาพวกเราเชื่อมโยงกับธรรมชาติ

ผมชอบการเดินป่าเพราะเป็นการได้กลับมาอยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง และเพิ่มสัมผัสของตัวเองที่จะต้องมองรอบตัวอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็วางใจในธรรมชาติว่าเขาจะไม่ทำร้ายตัวเรา ในสภาวะดังกล่าวเราเคารพนอบน้อมต่อพลังของธรรมชาติ สายน้ำจัดเรียงก้อนหินและเติมลมหายใจกลับสู่น้ำ ป่าไม้โอบอุ้มน้ำฝนไว้กว่าร้อยละแปดสิบ สิ่งมีชีวิตที่เล็กเกินตาจะมองเห็นอาศัยอยู่บนก้อนหินเล็กก่อนหนึ่งจำนวนหลายล้านชีวิต และส่งผลต่อระบบนี้เวศน์แห่งนี้ มีเพียงคนเท่านั้นที่แปลกปลอมและไม่เป็นประโยชน์อันใดต่อป่าแห่งนี้ นั้นทำให้ทุกครั้งที่เดินป่าเราจะเคารพหินทุกก้อน น้ำสุดหยด ต้นไม้ทุกต้นซึ่งเราไม่อาจมีพลังที่จะสรรสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้

สิ่งที่กังวลใจเหมือนจะถูกโอบอุ้มไว้โดยธรรมชาติ เพื่อปล่อยให้ตัวเราสถิตอยู่กับก้าวเดินแต่ละก้าว ทุกวินาทีคือการเรียนรู้ใหม่ ความรู้ไม่ได้เกิดจากมนุษย์มันอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว และรอคอยให้พวกเราได้เรียนรู้ ชาวนวาโฮ (Navajo) ปราชญ์อินเดียนแดงท่านหนึ่งเคยเล่าเรื่องนี้ไว้ให้ผมฟัง หากเราเคารพธรรมชาติ ธรรมชาติจะเปิดให้เราได้เรียนรู้ ในทุกเม็ดทราย หยดน้ำและสายลม จงวางใจและเปิดใจเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน พี่นิคมเล่าว่ามนุษย์สมัยนี้ไม่สังเกตเห็นว่าโลกกำลังร่ำไห้ การร่ำไห้ของโลกนั้นแสดงออกผ่านสัตว์น้ำที่ตายเพราะขยะพลาสติก ผืนดินที่เสื่อมโทรม น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายอย่างรวดเร็ว



การละคร

พี่ก๋วยและพี่กอฟจากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) พาพวกเราเปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรสและการรับสัมผัสทางกาย ผ่านกระบวนการละคร ตอนเราเรียนหนังสือประสาทสัมผัสที่เราใช้มากที่สุดคือตาและหู ใช้ความคิดในการวิเคราะห์และจดจำ แต่เชื่อไหมคนเราจดจำเรื่องราวได้จากประสาทสัมผัสที่เหลือ หากแต่เราไม่ได้ใช้มันเพื่อการเรียนรู้ เราสามารถจดจำสัมผัสของมือคนรักได้เสมอ เราสามารถใช้กลิ่นในการย้อนระลึกไปถึงอดีตที่สวยงาม เพราะมนุษย์ใช้ประสาทสัมผัสเหล่านี้ในการอยู่รอดมาสามล้านปี

พวกเราอยู่รอดเพราะสังคมที่ดูแลกันและกัน ไม่ได้มีเพียงแค่ตัวฉัน(I) แต่ยังมีเธอ(You) และพวกเรา(We) ซึ่งทั้งหมดถูกร้อยเรียงการด้วยเส้นที่เรียกว่าความเชือมโยง(Connect) การเชื่อมโยงเป็นทักษะหรือสิ่งที่สำคัญมากของกระบวนกร ผมมีปัญหาเรื่องนี้พอสมควร มองย้อนกลับไปตอนเป็นครูและเป็นคนนำกระบวนการบ้างก็พบว่าทำได้บ้างทำไม่ได้บ้าง เลยถามว่าควรจะทำอย่างไร พี่ก๋วยก็ให้คำตอบว่าวางเป้าหมายของเราลง และฟังผู้เข้าร่วม การฟังมีสามระดับ 1) ฟังเพื่อตนเอง 2) ฟังเพื่อคู่สนทนา 3) ฟังเพื่อกลุ่ม

ถ้าผมจะเติมเรื่องที่ว่าทำอย่างไรให้เราเชื่อมโยงกับคนได้มากขึ้น คือการเปิดสัมผัสเลย การที่เราจะเปิดได้นั้นสภาวะผ่อนคลายเป็นสิ่งที่ช่วยได้ จะพบว่าถ้าเราอยู่ในธรรมชาติและวางงานทั้งหมดลง สภาวะเชื่อมต่อจะเกิดขึ้นได้ไวมาก มือถือเป็นตัวที่ขัดขวางเราไม่ให้เกิดการเชื่อมโยงได้โดยง่าย กลับมาฟังเพื่อคู่สนทนา คนเรามีหนึ่งปาก สองหู เราควรจะใช้สัดส่วนตามนั้นอาจารย์ท่านหนึ่ง(ในหนังสือ)เคยสอนผมไว้

พี่ก๋วยพาพวกเราเล่นกิจกรรมหลับตาสัมผัสใบหน้าเพื่อน และลองเดินหาเพื่อนโดยหลับตาอยู่และไม่ให้ใช้เสียง ผมพบเลยว่าในชั่วขณะนั้นการเรียนรู้ใหม่เกิดขึ้น การจดจำโดยใช้ดวงตาให้ข้อมูลที่แตกต่างไปจากสัมผัสของฝ่ามือ

ไทเก๊ก

พี่อ้วนเข้ามาด้วยบรรยากาศสบายเป็นกันเองอย่างมาก เริ่มต้นบอกว่าถ้าใครเบื่อจะเดินออกไปเลยก็ได้ และบอกอีกว่าตัวเขาเองก็อาจจะแป๊กอยู่บ้าง สิ่งที่เอามาสอนพวกเราในวันนี้เป็นการนำไทเก๊ก มาประยุกค์ใช้กับหลักปรัญชาในการใช้ชีวิต เพื่อให้พวกเราทุกคนพร้อมตั้งแกน และเผชิญหน้ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

"ตั้งแกน" คืออะไร? เราพูดถึงเรื่องตั้งแกนหลายครั้งแล้วก่อนจะมาถึงวันนี้ การอธิบายของพี่อ้วนจัดกิจกรรมผ่านการใช้ร่างกายให้เราเข้าใจ ไทเก๊กเป็นศาสตร์ที่มีลัทธิเต๋า(บางคนก็เรียกว่าเป็นศาสนา) เป็นปรัชญาพื้นฐาน ว่ากันว่าไทเก๊กเป็นตัวช่วยให้เราเข้าใจเต๋าได้ง่ายขึ้น แล้วผมก็ได้เจอกับตัวเองถึงแม้ว่าจะเป็นระยะเวลาเพียงหนึ่งวันแต่ก็เปิดโลกไปมากทีเดียว

เริ่มต้นพี่อ้วนใช้ทฤษฎีไข่แดง ไข่ขาวมาอธิบายจุดสบาย(Comfort zone)และสุดไม่สบาย(Uncomfort zone) เพื่อจะนำพวกเราไปสู่สภาวะขอบ ซึ่งก็คือสภาวะที่เราอยู่ในจุดที่ถ้าไปอีกจะสู้ไม่ไหวแล้ว แต่ถ้ารักษาสภาวะนี้ไว้ได้ก็จะเกิดการเรียนรู้และเติบโต ถ้าอธิบายเป็นภาพมากขึ้นให้นึกถึงเด็กคนหนึ่งในห้องเรียนคณิตศาสตร์ ถ้าเราให้โจทย์ง่ายเด็กก็ไม่ได้ไปที่ขอบเขาก็จะทำโจทย์ได้อย่างสนุกสนาน หากแต่ไม่เติบโตอะไร หากเราให้โจทย์ยากเกินไปเขาก็จะไม่ทำ คือสภาวะหลุดขอบให้ความยากมากเกินไป สภาวะขอบจะเป็นจุดที่แตะความสามารถของเขาพอดี ไม่ได้สบายแต่ก็ไม่ได้ยากจนทำไม่ได้

ด้วยพื้นฐานนี้การรักษาสภาวะขอบจะทำให้พวกเราเติบโตได้ พี่อ้วนใช้วิธีการเรียบง่ายในการให้เราเข้าใจสภาวะขอบ โดยการให้ผลักกันมีคนหนึ่งยืนตั้งแกนและมีอีกคนผลัก ให้คนผลักสังเกตสภาวะขอบของเพื่อน คนถูกผลักก็สังเกตสภาวะขอบของตัวเอง สภาวะขอบจะสังเกตได้จากเข้าที่เริ่มจะหลุดออกจากพื้นจังหวะนั้นเรียกว่าแตะขอบ ให้หยุดและรักษาไว้ ตอนทำกิจกรรมต้องใช้สัมผัสสูงมาก มองลมหายใจสังเกตการสั่นของร่างกายคู่ของเรา จบช่วงเช้าพวกเราเข้าใจแล้วว่าสภาวะขอบคืออะไร

กลับมาช่วงบ่าย เป็นการเริ่มให้เราเข้าใจการตั้งแกนอย่างจริงจัง การตั้งแกนในกายภาพของคนก็คือการยืนให้ตรง อืมยืนให้ตรงแค่นั้นหละ พี่อ้วนบอกว่าถ้าเรายืนได้ตรงเราก็จะรักษาสมดุลได้เองและเราจะใช้แรงน้อยลง โดยให้เราจินตนาการว่ามีกระบองปักตัวเราจากดวงจันทร์ทะลุหัวเราผ่านลำตัวและลงไปยังแกนโลก มันต้องลองเองจริงๆถึงจะเข้าใจ พอทำแล้วพบว่าเราไม่ได้ออกแรงอะไรมากเลย ไม่ได้เกรงไม่ได้ต้านกับมือของคู่เรา แต่เขากลับบอกว่าออกแรงมากขึ้นแล้วนะ

พี่อ้วนอธิบายความแตกต่างของ Power กับ Force ไว้ว่า Power เราใส่ใจไปที่ปัญหาหรือภัยอันตราย ที่เข้ามาเราจะตั้งมั่นป้องกันเอาไว้ก่อน เหมือนสภาวะแรกที่เราพยายามต้านมือของเพื่อนไม่ให้ผลักเราล้มลง แต่ถ้าเป็น Force เป็นการมีเป้าหมายอยู่ที่การรักษาสภาวะ ตั้งมั่นและสิ่งนั้นคือสิ่งที่เรียกว่าแกน เรามีแกนเราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราผ่อนคลาย และตั้งมั่น

กลับมาสู่ชีวิตจริง ไม่มีให้อิงอะไร... พอๆ เอาจริงจังในชีวิตจริงผมกลับมาแล้วเห็นเลยว่าที่ผ่านมาแกนเราอ่อนแอ พอมีเหตุการณ์อะไรเข้ามาเราก็จะโอนเอียง เช่นเพื่อนถามคำถาม เราก็จะตอบป้องกันตัวเองไว้ก่อนแล้ว ทั้งที่ไม่ได้มีใครว่าอะไรเลย หรือแม้แต่คิดไปสู่เรื่องต่างๆนาๆ แต่พอมีแกนซึ่งตอนนี้แกนผมคือการทำให้เราได้ข้อมูลผ่านการลงมือทำให้ไวที่สุด เราจะสนใจเฉพาะสิ่งนี้มองไปยังเป้าหมาย มากกว่าติดอยู่กับปัญหาเล็กน้อย และไม่คิดไปเอง ซึ่งทั้งหมดนั้นเริ่มต้นจากการที่เรามีแกนที่มั่นคงก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด

กลับมาสู่ปรัชญาเต๋า การมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมุ่งแต่เป้าหมายอย่างเดียวนั้นก็ไม่ดีเสมอไป หากมีสิ่งใดมากระทบเราจะไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือก็เซได้เหมือนกัน เต๋าจะเป็นภาพของหยิงหยาง เป็นการรักษาสมดุล เติบโตแบบบอลลูนที่ค่อยๆขยายออกทุกทิศทาง ไม่ใช่แค่มุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว ถ้าเป็นบริษัทถ้ามุ่งแต่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่ไม่สนใจสังคมข้างหลังเลยก็จะอยู่ไม่ได้ เราเรียนแต่สายคิดอย่างเดียว แต่ไม่มีศิลปะเลย พอเจอปัญหาบางอย่างก็ไม่สามารถประยุกค์ใช้ได้

Friday, June 8, 2018

Starfish Makerspace


วันนี้มีโอกาสลงพื้นที่ไปดูโรงเรียนที่มีความพิเศษแห่งหนึ่ง โรงเรียนบ้านปลาดาว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เด็กที่นี้เปิดเทอมมา 3 สัปดาห์แต่การเข้าแถวไม่ต้องมีครูมาบอก ไม่ต้องมีใครมาเตือนให้เข้าแถว ถึงแม้จะไม่ได้นิดสนิทตลอดเวลา แต่ก็เป็นความเรียบร้อยและรู้หน้าที่ที่ควรจะเป็น ถัดมาดูห้องทำอาหารนักเรียนประถม 1 กำลังจับมีดเล่มโตหั่นมะนาวเลาะเมล็ดออก และคั้นน้ำมะนาวออกจากผล นอกห้องมีนักเรียนอนุบาล 3 กลุ่มหนึ่งสนุกกับการพ่นสีสเปรย์กับผลงานของตัวเอง นักเรียนประถม 2 กำลังทำต้นแบบบ้านขึ้นมาจากไม้ไอศกรีมโดยที่ไม่ได้มีแบบมาให้พวกเขาออกแบบเองสร้างเอง ตัดมาที่ทานอาหารนักเรียนอนุบาลหนึ่งที่พึ่งเข้าโรงเรียนมาได้ 3 สัปดาห์พยายามเขี่ยอาหารที่อยู่ในถาดของตัวเองหกบ้าง หล่นบ้างแต่ก็ไม่ได้มีใครว่าอะไร เด็กทุกคนไม่มีข้อยกเว้นในความสามารถใดๆต้องล้างจานเองทั้งหมด


ที่นี้โรงเรียนบ้านปลาดาวที่ซึ่งเชื่อในทฤษฎีการเรียนรู้ Constructivism เชื่อว่าความรู้เกิดจากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ตัดสินใจเอง ไม่มีการสอน นักเรียนที่นี้มีช่วงเวลาเลือกเองว่าจะเข้าเรียนอะไร จะสร้างผลงานใด มีเพียงโค้ช (จะประจำที่ห้อง Makerspace) ที่คอยเป็นผู้ตั้งคำถาม และอำนวยความสะดวกต่างๆให้กับนักเรียน ระหว่างที่กำลังเขียนอยู่นั้นก็มีนักเรียนประถม 2 ถามโค้ชของเธอว่า "อันนี้ใช่น้ำตาลปี๊บหรือเปล่าค่ะ" โค้ชก็ถามกลับว่า "แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรหละ" นักเรียนคนนั้นก็ตอบว่า "ก็ชิมค่ะ" แล้วก็แกะหนังยางที่ผนึกถุงไว้ออกมาชิบ และนำไปใส่ส้มตำที่เพื่อนของเธอกำลังทำอยู่ เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากตัวเด็กเองอย่างแท้จริง


เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนผมรู้จัก Starfish ผ่านงานที่เข้าไปคุยและเริ่มศึกษาเรียนรู้มากขึ้นจากการถามวี (เพื่อนในวงการศึกษาคนหนึ่ง) ที่เคยไปดูงานมาครึ่งวันและพบว่าสิ่งที่เราเคยทำกับเด็กที่ผ่านมา มีคนทำแบบนี้และจริงจังด้วยในประเทศไทย และทิศทางเหมือนกันมาก เมื่อเกือบสองปีก่อนผมเคยไปช่วยกลุ่ม Little Builder ซึ่งใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) นั้นเป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักทฤษฎีการเรียนรู้ Constructivism พี่เต้ผู้ก่อตั้งโครงการเชื่อมั่นในสิ่งนี้มากและพยายามดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมา ผ่านกระบวนการพาลงชุมชนและให้เด็กแก้ไขปัญหา เมื่อหนึ่งปีก่อนโครงการ Summer school ที่ทำให้กับโรงเรียนวัดนาวง ผ่านกิจการเพื่อสังคมชื่อ Edwings ใช้รูปแบบการบูรณาการความรู้เข้ากับการเรียนรู้จากการทำโครงงาน (Project based learning: PBL) เราจัดหลักสูตรวิชาการในตอนเช้าและให้นักเรียนลงมือสร้างผลงานในตอนบ่าย โดยแบ่งห้องตามความสนใจของเด็ก



ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความบังเอิญ ความไม่รู้ หรืออะไรกันแน่ทำให้การเดินทางในครั้งนี้สะท้อนกลับไปยังสิ่งที่ทำว่ามันคล้ายคลึงกันมากขนาดนี้แต่เรากลับไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีคนทำ ที่ Starfish Makerspace จะแบ่งออกเป็น 4 ห้องเรียนด้วยกันได้แก่ ห้องทำอาหาร ห้องผ้า ห้องศิลปะ และห้องช่าง นักเรียนจะเลือกเข้าห้องเรียนเองตามความสนใจตั้งแต่อนุบาลและสามารถเปลี่ยนห้องเรียนได้ตลอดเวลา ตอนเช้าเรียน ไทย คณิต วิทย์ และตามด้วย Makerspace ส่วนช่วงบ่ายจะเป็นช่วงที่นักเรียนจะได้ทำ PBL โดยจะมีห้องให้นักเรียนได้ค้นคว้าหาข้อมูลเขียน วิเคราะห์สรุปความจากสิ่งที่ได้ค้นคว้า


ห้อง PBL ตื่นตาตื่นใจผมมาก เพราะเด็กประถม 2 ที่เข้าไปใช้ห้องมีเครื่องมือที่หลากหลายในการสืบค้นและทำรายงาน บางคนใช้ iPad ในการสร้าง Mind map ให้ Google เพื่อค้นหาข้อมูล มี check-list ที่ครูทำใน word ที่เด็กจะต้องเข้าไปเช็คตลอดเวลาว่าค้นหาอะไรไปแล้วบ้าง อะไรค้นหาไม่เจอบ้างครูไม่ได้เข้าไปสอนให้นักเรียนใช้วิธีการตามครูแต่อย่างใด หัวข้อที่นักเรียนเลือกก็เลือกตามความสนใจ กลุ่มเด็กผู้หญิงก็เริ่มจากคำถามว่าทำไมถึงตัวดำ แล้วก็ตั้งข้อคำถามที่ต้องทำการค้นคว้าต่อ หัดไปอีกฝั่งหนึ่งกลุ่มเด็กผู้ชายสนใจเรื่องตุ๊กแกก็ค้นและอ่านกันอย่างสนุกสนาน มองไปภาพรวมก็จะเห็นทั้งการใช้เทคโนโลยี กับการเขียนด้วยมือสลับกันไปอย่างลงตัว ไม่ทิ้งสิ่งใดไป


เมื่อสัปดาห์ก่อนผมไปเจอคุณหมอท่านหนึ่งตอนไปฟังเรื่อง Finger scan (เครื่องมือค้นหาตัวเองผ่านลายมือ) ซึ่งบางคนก็เชื่อ บางคนก็บอกว่าเป็นการลำเอียงทางสถิติ แต่ช่างเถอะประเด็นที่จะเล่าให้ฟังคือ คุณหมอก็มีความคิดสุดโต่งที่น่าสนใจ บอกว่าเด็กควรยกเลิกวิชาการให้หมดและปล่อยให้พวกเขาเล่นจนถึง ม.3 เพราะว่าความรู้เราสามารถเรียนภายในสามปีเพื่อเข้ามหาลัยได้ คำว่าเล่นในมุมของคุณหมอคือการฝึกทักษะ ซึ่งผมมองว่าสอดคล้องกับที่ Starfish กำลังทำอยู่


ด้านการพัฒนาการ Starfish มุ่งเน้นอยู่ 9 ด้านด้วยกันโดย 4 ด้านแรกจะเป็นเรื่องของสติปัญญา (Cognitive) ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง 4Cs = Critical Thinking, Creativity, Communication, Collaboration และอีก 5 ด้านที่เหลือเป็นเรื่องของสังคม (Social) ผมเคยถามว่าทำไมต้องเป็นเก้าอย่างนี้ ทางพี่แพร (ที่รับดูแลมูลนิธิอยู่ปัจจุบัน) ก็เล่าว่ามันไม่ได้ตายตัวว่าจะต้องเป็นเก้าสิ่งนี้ เพียงแต่สิ่งที่ทำรวมกับสิ่งที่ค้นคว้าเราได้ผลลัพธ์เหล่านี้ออกมา แต่ถ้าเปลี่ยนบริบททักษะที่ควรพัฒนาในเด็กก็อาจจะเปลี่ยนไป เช่นเด็กมัธยมที่มากับครอบครัวที่เป็นแรงงานข้ามชาติ พวกเขาควรจะต้องรู้ความฉลาดทางการเงิน (Financial Literacy) ก็ต้องใส่ให้เขา



ทักษะก็ต้องตามมาด้วยการประเมิน จุดบอดของการศึกษาไทยคือเราไม่สามารถหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการประเมินทักษะของคนได้ เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงยังคงมีแต่ O-net และทำไมเราถึงเน้นวิชาการมากมาย เพราะเราวัดทักษะอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ ผมไม่ได้บอกว่าเราวัดไม่ได้ซะทีเดียว เพราะถ้าเราเอาผู้เชี่ยวชาญมาอยู่กับเด็กในช่วงเวลาหนึ่ง สังเกตพฤติกรรมและการตัดสินใจก็พอจะประเมินทักษะของเขาได้ แต่ค่าใช้จ่ายหละ และความน่าเชื่อถือหละซึ่งทำให้เรายังไม่มีเครื่องมือวัดทักษะที่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ยุคสมัยนี้เราพูดถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 กันบ่อยมาก


การจะวัดทักษะทางความคิดเราสามารถดูจากผลงานหรือการสังเกตได้ แต่การวัดเรื่องสังคมต้องสังเกตอย่างเดียว ผมเลยพยายามเรียนรู้ว่าที่นี้เขาประเมินนักเรียนกันอย่างไร ก็พบว่าเขาใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมและถ่ายรูปไว้ เพราะโค้ชคงจะจดบันทึกไม่ทันแน่ เคยถามว่ามี Classdojo นะแต่เนื่องจากห้องเรียนมีการเปลี่ยนแปลงนักเรียนตลอดเวลาการใช้เครื่องมือดังกล่าวจึงไม่สะดวกนัก โค้ชจะสังเกตเช่น เด็กเข้าไปช่วยเพื่อน เด็กรับฟังความเห็นของเพื่อน เป็นต้นและจะถ่ายรูปไว้ บางครั้งดูจากผลงานได้ มีจุดที่ยังพัฒนาต่อไปได้อีกมากเช่นกัน ยิ่งเด็กอนุบาลความยากในการประเมินจะเพิ่มขึ้น เพราะเด็กอนุบาลอ่านไม่ได้และไม่สามารถเขียนสื่อความได้ดีนัก ต้องใช้การสังเกตและการพูดคุย


ถึงเวลาต้องกลับมาทบทวนงานตัวเองใหม่ คิดว่าคงจะมีจุดเปลี่ยนดีๆเกิดขึ้นแน่ (แค่อยากตัดจบเฉยๆใช่ไหมหละ)