Friday, October 28, 2016

10 อันดับหนังสือที่อยากให้ครูไทยได้อ่าน


ช่วงนี้ว่างจัดเลยมานั่งเขียนบล็อคยาวๆ ใส่เนื้อหาแน่นๆ ได้เยอะขึ้น...อันที่จริงแล้วผมขี้เกียจเขียนแผนการสอนเลยมานั่งเขียนบล็อค อย่างหลังน่าจะตรงกว่า งานท่วมหัว ชีวิตสโลไลฟ์ 5555

โอเคนอกเรื่องอยู่หนึ่งย่อหน้า เนื่องจากวันนี้เจอพี่ ER ของทาง Teach for Thailand แล้วคุยกันถึงหนังสือที่ Fellow(ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง) รุ่น 2 ได้ แต่ถามไปถามมา รุ่น 3 ยังไม่ได้เลยซักเล่ม ไหนๆก็ยังไม่ได้หนังสือ ผมเลยอยากปรับหนังสือที่ขอการสนับสนุนจากทางมูลนิธสยามกัมมาจลใหม่ เล่มไหนที่อ่านแล้วผมรู้สึก Inspire และนำไปใช้ในห้องเรียนได้ก็อยากให้ครูหลายๆท่าน ที่ยังมีไฟท่วมอยู่ แบบอยากเปิดเทอมแล้วโว๊ย!!! ได้อ่านกัน...โอเคเริ่มจัดไปชุดใหญ่ไฟหระพริบ

1. TEACH Like Your Hairs On Fire - Rafe Esquith

ครูนอกกรอบกับนักเรียนนอกแบบ แค่ชื่อก็บอกได้ถึงความหลุดโลกของครูคนนี้แล้ว ในหนังสือเล่มนี้จะเป็นเรื่องราวของครูป.5 ประจำห้อง 56 คนนี้ อ่านแล้วคุณจะขนลุก ไฟท่วมหัว

ในด้านวิชาการ (Academic achievement) ครูเรฟจะเล่าถึงเทคนิควิธีการที่เขาใช้ซึ่ง ครูประถมอเมริกาสอนหมดทุกวิชา ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ละคร เป็นต้น ไม่ใช้ว่าผมจะให้อ่านเอา How to ไปใช้เพียงอย่างเดียว แต่อยากให้รู้สึกเหมือนที่ผมเป็นตอนอ่านหนังสือเล่มนี้ (หลังจากที่สอนไปได้ซักระยะ) เฮ้ยคณิตศาสตร์สอนแบบนี้ก็ได้หนิ กรอบความคิดของครูจะเปิดกว้างขึ้นมาทันที

ในด้านทักษะ (Essential skill) และคุณลักษณะ (Character strength) ก็พีคไม่แพ้ด้านวิชาการ เราจะได้เห็นวิธีคิดและวิธีการที่ครูเรฟร้อยเรียงผ่านตัวหนังสือตลอดทั้งเล่ม ครูเรฟพาเด็กทุกคนในห้องเล่นละคร เพราะเหตุใดนั้นอยากให้ไปลองอ่านกันนะครับ พอกล่าวถึงเรื่องละครแล้ว มีครู TFT บางคนถึงกับอินมาก พาเด็กๆในโรงเรียนเล่นละครไปด้วย

โหลดไฟล์ได้ที่: ครูนอกกรอบนักเรียนนอกแบบ.pdf

2. Embedded Formative Assessment

คุณวิจารณ์ พานิช แปลและเขียนหนังสืออีกหลายเล่มเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ผมได้ศึกษาจากท่านผ่านตัวหนังสืออีกเช่นเคย และก็ยังคงชอบเล่มนี้มากทีเดียว ใครเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

การประเมินเป็นสิ่งที่โคตรสำคัญสำหรับครู จริงๆสำคัญแทบทุกอาชีพ ซึ่งหลายคนใช้การประเมินผิดจุดประสงค์ การประเมินมีสองแบบด้วยกันคือ Formative และ Summative

อธิบายสั้นๆ Formative เราประเมินระหว่างการสอน จุดประสงค์เพื่อพัฒนาตัวผู้เรียนเป็นหลัก ส่วน Summative คิดซะว่าเป็นการสอบปลายภาคตัดเกรด ผู้เรียนได้ประโยชน์จากตรงนี้น้อย (ความเห็นส่วนตัว)

ตีความตามชื่อหนังสือเลย
Embedded = ฝังมันลงไปกับการสอน
Formative assessment = การประเมินระหว่างทางเพื่อพัฒนาผู้เรียน
ครูจะมีปัญหากับการประเมินเป็นอย่างมาก เช่น ทำให้ภาระงานมากขึ้น(ต้องมานั่งตรวจข้อสอบ) ผลที่ได้ก็ไม่ได้ใช้ในการสะท้อนกลับไปหาผู้เรียน หรือสะท้อนกลับไปไม่ทันท่วงที

เกริ่นอย่างนาน หนังสือเล่มนี้จะมีวิธีการประเมินที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว ส่งผลดีต่อผู้เรียน ซึ่งจะอธิบายด้วยภาพให้เราเข้าใจได้ง่ายมาก แล้วจะรู้ว่าการประเมินผู้เรียนนั้นไม่ได้มีแค่สอบอย่างเดียว เราสามารถสร้างสรรค์วิธีการได้อีกเยอะมาก ลองอ่านดูนะ :)

3. เด็กน้อยโตเข้าหาแสง

ผมได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ก่อนเข้ามาสอนในโรงเรียนแล้ว พอสอนไปได้ซักระยะเลยมีโอกาสหามาอ่าน เป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจมากทีเดียว

ป้ามล เป็นใคร?
ป้ามลเป็นคนที่ทำให้ 'บ้านกาญจนาภิเษก' เกิดขึ้น ในแต่ละปีมีเด็กที่ทำผิดกฎหมาย แล้วต้องไปอยู่ในสถานพินิจ หรือคุกเด็ก รวมๆแล้วหลายหมื่นคน ผมไม่รู้ว่าภายในนั้นเป็นอย่างไร มันคงเป็นสถานที่ที่เลวร้ายมาก จากที่ฟังคนที่เคยเข้าไปเล่าต่อมาอีกที บ้านกาญจนาภิเษก เป็นสถานพินิจเช่นเดียวกันเพียงแต่ไม่มีรั้วล้อมรอบ ไม่มีผู้คุม มีแต่พี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา

กว่าจะมาเป็น บ้านกาญจนาภิเษก ได้ ต้องผ่านอุปสรรคภาพเดิมๆของคนในสังคม ในหนังสือเล่มนี้จะเล่าถึงเรื่องราวในชีวิตของป้ามล ตั้งแต่เป็นครู โดนไล่ออกจากราชการ การเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ปากเกร็ด จนถึงบ้านกาญจนาภิเษก

ที่ผมชอบมากที่สุดในหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่ Success story แต่เป็นวิธีคิดของป้ามลในการมองเรื่องต่างๆ อย่างไม่มีกรอบของสังคมเข้ามาบดบัง ทำให้ป้ามลมองเห็นในสิ่งที่ควรจะเป็น และลงมือทำอย่างจริงจัง และวิธีคิดภาพระยะยาวของป้ามล ก็ชัดเจนในหนังสือเล่มนี้เช่นกัน ป้ามลมีวิธีการคืนเด็กสู่สังคม ซึ่งผ่านการคิดผลในระยะยาวอย่างถี่ถ้วนจริงๆ อยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ทุกคนจริงๆ

ป้ามลพูดใน TEDxBangkok ครั้งที่ผ่านมาด้วยนะ


4. ถามคือสอน (โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา)

เนื้อหาในนี้ดีงามกว่าสิ่งที่แสดงบนหน้าปกหลายเท่านัก ผมอยากให้ครูวิทยาศาสตร์ทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ตามชื่อหนังสือเลยคือ ใช้วิธีการถามเพื่อที่จะสอนผู้เรียน มองในอีกมุมหนึ่งก็คล้าย Socratic Method  ที่ทางมูลนิธิสุวสถิรคุณกำลังเผยแพร่และพัฒนาอยู่

ไม่ใช้แค่เฉพาะวิทยาศาสตร์ ผมว่าเราสามารถนำไปประยุกค์ใช้กับวิชาอื่นๆได้ ผมเคยลองใช้กับเด็กหรือเพื่อนบางคนอยู่บ้าง เพื่อที่จะอธิบายบางเรื่องที่เรามีประโยคสั้นๆ ที่สามารถบอกเขาไปได้เลย แต่จะไม่เกิดการเรียนรู้ หรือที่เราชอบพูดกันว่าทำแบบนี้มัน Teacher center ครูอยากสอนอะไรก็ป้อนเข้าไป ถามคือสอนนั้น เรามีเนื้อหาที่อยากจะสอนก็จริง แต่เราจะยิงคำถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ แก้ไขความเข้าใจ หรือนำไปสู่บทสรุปได้

เป็นวิธีการที่ครูผู้สอนต้องใจเย็นและผ่านการฝึกฝนมาพอสมควร ถึงจะทำได้อย่างลื้นไหล นักเรียนตอบมาเราสามารถยิงคำถามที่สอดคล้องกับสิ่งที่นักเรียนตอบได้เลย

สำหรับผมแล้วการถามคำถามแก่นหนึ่งอย่างของมัน คือการทำให้ผู้เรียนได้คิด เพียงเท่านี้ก็อาจจะเรียกว่าประสบความสำเร็จแล้วก็ได้

โหลดได้ที่: ถามคือสอน2.pdf

5. How Children Succeed

ต้องบอกเลยว่าช่วงแรกของการเข้ามาทำหน้าที่ครู ผมได้รับอิทธิพลของหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างมาก ในความเชื่อที่ว่าคุณลักษณะ (Character Strength) เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ความรู้

หนังสือเล่มนี้ผมเชื่อว่าจะเปิดโลกกว้างในหลายมุม ให้กับคนที่สนใจด้านการศึกษา มีมิติต่างๆที่ผมคิดถึง แต่ไม่เคยคาดคิดว่าจะมีคนทำมันอย่างจริงจัง และแพร่หลายเป็นอย่างมากในอเมริกา นั้นคือการให้คำปรึกษาผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็ก

หนังสือเล่มนี้เราจะได้เห็น KIPP School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เน้นด้านคุณลักษณะมาก มีการประเมินและพัฒนาคุณลักษณะกันอย่างจริงจัง และมันมีมูลค่ามาก

ผมขอนอกเรื่องนิดนึง ผมมองว่าไทยเราก็ไม่ต่างจากอเมริกาในหลายๆเรื่อง เช่นการศึกษาเรามีการสอบวัดระดับชาติ ที่ใช้งบประมาณมหาศาลไม่ต่างกัน แต่น้อยมากที่จะมีคนกล้าเข้าไปประเมินคุณลักษณะของคน และผมคิดว่าคนที่ทำเรื่องนี้ได้โคตรเจ๋ง และเป็นเรื่องที่มีมูลค่ามหาศาล ลองนึกภาพตามดูบริษัทจะจ้างคน แค่ข้อมูลเกรดเฉลี่ย ไม่ได้ช่วยให้เรารู้ว่าเราเลือกถูกคนหรือเปล่า แต่ถ้ามีตัวประเมิณคุณลักษณะออกมาจริง ผมเชื่อว่านายจ้างจะเลือกดูตัวนี้มากกว่าเกรดแน่นอน เราอยากรู้ว่าคนที่เราเลือกมาทำงานนั้น ซื่อสัตว์หรือเปล่า ทุ่มเทแค่ไหน ซึ่งการใช้เวลากับผู้สมัครไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วันไม่อาจจะตอบได้ หนังสือเล่มนี้อ่านยากนิดนึง เพราะออกจะเป็นงานวิจัย แต่ถ้าอ่านจบได้ ได้อะไรเยอะแน่

6. The Courage to Teach

"กล้าที่จะสอน" หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เกี่ยวกับ "กล้าที่จะถูกเกลียด" แต่อย่างใดแค่ชื่อไทยคล้ายๆกัน 555

ผมถูกหนังสือเล่มนี้ตบหน้าแรงๆอยู่หลายครั้ง ไม่ได้หมายถึงมีใครเอาหนังสือมาตบหน้าผม ถ้าเป็นแบบนั้นผมคงโกรธมากทีเดียว ความคิดของการเป็นครูใหม่เราจะมีชุดความเชื่อบางอย่างซึ่งไม่ถูกต้องซะทีเดียว

ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังอย่างไม่อาย ความเชื่อของเด็กน้อยคนหนึ่งเชื่อว่า ถ้าเราสามารถหาวิธีการสอนที่สุดยอดได้ การสอนคงจะเป็นเรื่องง่ายแน่ๆ แต่จริงๆแล้วมันไม่มีหลอกวิธีการสอนที่สุดยอด วิธีการสอนที่ครูหัวก้าวหน้าส่วนใหญ่มองว่าห่วยแตก สอนอยู่หน้าห้องพูดอยู่คนเดียว ก็สามารถเป็นวิธีการสอนที่สุดยอดได้ ถ้าครูที่ใช้เหมาะกับวิธีการนั้น ในหนังสือเล่มนี้จะพูดถึง อัตลักษณ์ของครู ไม่ได้ค้นหากันง่ายๆ บวกกับความจริงใจของผู้สอนด้วยแล้วนั้น คุณจะมีความสุขกับการสอนแน่นอน หนังสือเล่มนี้กล่าวไว้เช่นนั้น

ในอีกมิติหนึ่งที่ผมสัมผัสได้จากหนังสือเล่มนี้คือเรื่องความสมดุลเราไม่อาจจะคิดอย่างซ้ายไปหรือขวาไปได้ เราไม่อาจจะให้ความสำคัญกับการพูดคุย โดยไม่ให้ความสำคัญกับความเงียบได้อย่างเหมาะสม ลองไปอ่านดูผมคงจะไม่ได้เข้าใจในจุดนี้ดีพอที่จะอธิบาย ความสมดุลที่หนังสือเล่มนี้ต้องการจะมอบให้

7. การเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างไร

"การเรียนรู้ (Learning)" มันคืออะไรหนะ คุณสามารถอธิบายได้ไหม? ผมเชื่อว่ามันคงมีคำนิยามที่ให้ความพึงพอใจแก่คำถามนี้ แต่ถามว่าเราเข้าใจมันจริงหรือ

ผมจดลงไปในหนังสือเล่มนี้เยอะมาก แต่จำเนื้อหาในเล่มไม่ได้เลย หลายคนบอกว่าหนังสือเล่มนี้ดีมาก ผมเลยคิดว่าผมยังขาดประสบการณ์

ณ ตอนนี้การเป็นครูของผม มีความเป็นศิลป์อยู่บ้างในการคิดถึงการเรียนรู้ของนักเรียน ว่าควรจะผ่านจากกิจกรรมไหนดี ผมไม่อาจจะบอกได้ว่าทำไมถึงเลือกทำบางอย่างและไม่ทำบางอย่างได้ด้วยเหตุผลซะทีเดียว

หนังสือเล่มนี้อ่านแล้วควรอ่านอีก (บอกกับตัวผู้เขียนบล็อคเองด้วย) ประสบการณ์หลายๆครั้งก็จำเป็นต่อการอ่านหนังสือ
โหลดได้ที่: การเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างไร.pdf


8. ครูเพื่อศิษย์ สร้างห้องเรียนกลับทาง

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าการเป็นครู 1:50 นั้นทำให้ผมรู้สึกลำบากใจมาก เราไม่สามารถเข้าถึงเด็กทุกคนได้อย่างที่ควรจะเป็น ประกอบกันกับช่วงนั้นผมได้ยิน Flipped Classroom จากพี่คนหนึ่งใน Teach for Thailand เลยมีความคิดเล็กๆว่าจะลองทำดูบ้าง

หนังสือเล่มนี้ช่วยให้ความคิดเรื่องข้อจำกัดในการทำ Flipped Classroom ในหัวผมลดลงไปเยอะมาก แต่ก่อนอื่นคนที่ไม่เคยได้ยินคำนี้จะงงไปเสียก่อน ขอขยายความเพิ่มเติมนิดนึง

Flipped Classroom หรือห้องเรียนกลับทางคือการให้เอาเนื้อหาบทเรียนไปเป็นหน้าที่ของนักเรียนในการไปศึกษา และเรามาแลกเปลี่ยน ลงมือปฏิบัติรวมถึงทำการบ้านกันที่โรงเรียน ฟังดูดีมากสำหรับผมในช่วงแรกของการสอน แต่ปัจจุบันผมมีวิธีทางออกมากกว่านั้นในการแก้ไข ความ 1:50 แต่การรู้ไว้ไม่เสียเปล่าผมยังอยากนำมาใช้จริงจังดูซักครั้งนึง

หนังสือเล่มนี้จะตอบคำถามพวก เด็กไม่มี Smartphone ทำยังไง ครูจะต้องลงทุนลงแรงอัดคลิปกันจริงจังเลยหรือเปล่า คำตอบของหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า Flipped Classroom มันง่ายกว่าที่ผมคิดไว้เยอะมาก

โหลดได้ที่: สร้างห้องเรียนกลับทาง.pdf

9. Creative Schools

ผมชอบประโยคหนึ่งในหนังสือเล่มนี้มากนั้นคือ "การปฏิวัติต้องเกิดจากระดับล่างสุดการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นในห้องของคณะกรรมาธิการผู้มีหน้าที่ออกกฎหมายหรือในวาทะของนักการเมือง หากแต่การศึกษาคือสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เรียนและผู้สอนในโรงเรียน" อยู่ในหน้าที่ 34 ไปเปิดดูได้ผมไม่ได้ไมเมขึ้นมาเอง :b

แค่เปิดเรื่องในหนังสือมมาผมก็อินสุดๆแล้ว เขาเล่าถึงประวัติที่มาว่าทำไมเราจึงมีโรงเรียนเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่บอกให้ลอกไปหาซื้อมาอ่านเอง

และพูดถึงหลายเรื่องที่เปิดโลกผมมาก ขอยกอีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมคิดว่าถ้าครูละลึกไว้เสมอเราจะไม่ทุกข์ใจกับการสอนแล้วเด็กจำอะไรไม่ได้

คุณขี่ม้าตัวเมื่อวานไม่ได้หลอก และคุณขี่สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เช่นกัน เราไม่อาจคาดหวังว่าสิ่งที่เรียนรู้เมื่อวานจะสามารถนำมาประยุกต์ได้ทุกครั้ง จงอยู่กับปัจจุบัน


10. 21st Century Skills Rethink How Students Learn

เล่มนี้ผมไม่ได้ชอบมันมาก แต่ขอยกไว้อันดับที่ 10 นิดนึงเพราะมันมีเรื่องราวกับผมเล็กน้อย

ตอนอยู่ปี 3 ก็ชอบซื้อหนังสือมากองในบ้าน อ่านบ้างไม่ได้อ่านบ้าง และเจ้านี้ก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่ผมซื้อมาแล้วอ่านได้สามหน้าแล้วเควี้ยงทิ้ง เพราะผมเข้าใจผิดว่ามันเป็นหนังสือพัฒนาตนเอง แต่เปล่ามันเป็นหนังสือสำหรับนักการศึกษาต่างหาก

หนังสือเล่มนี้โคตรกว้าง ต้องเลือกอ่านนิดนึงบางบทไม่ได้มีความเกี่ยวกับครูในห้องเรียนเลยเช่นเรื่องการออกแบบโครงสร้างโรงเรียน - -* แต่บางเรื่องก็ดีมากทำให้ผมได้รู้จักนักคิดด้านการศึกษาหลายๆคน เช่น เฮาเวิร์ด การ์ดเนอร์ ผู้คิดทฤษฎีพหุปัญญา จำแนกว่าคนมีความฉลาดหลายมิติ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมไม่อินกับ 21st Century Skills เลยเพราะผมได้อ่านหนังสือเล่มบน Creative Schools เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พูดถึงในการศึกษาบ่อยมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ผมมองว่าคนที่คิดก็คือระบบอุตสาหกรรม ผู้ซึ่งทำลายระบบการศึกษา ความคิดผมอาจจะเปลี่ยนไปอีกก็ได้ เฉพาะฉะนั้นขอที่รู้แล้วก็ปล่อยวางในสิ่งที่ผมได้กล่าวไว้ด้วยละกันนะครับ

โหลดได้ที่: 21st Century Skills ทักษะแห่งอนาคต การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21

จบแล้วสำหรับมหากาพย์การแนะนำหนังสือภาค 1 (หวังว่าจะมีภาคต่อๆไป) มีหลายเล่มที่ผมยังไม่ได้แนะนำเพราะกำลังอ่านอยู่ ไม่ก็ลืมเนื้อหาไปแล้ว ยังไงซะก็ขอขอบคุณสำหรับใครก็ตามที่ทนอ่าน บทความที่ออกจะใช้คำบ้าๆบอๆไปหน่อย มีข้อคิดเห็นอย่างไรมาแลกเปลี่ยนกันได้ ผมจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง...บุญรักษา ขอให้ครูผ่านอุปสรรคในโรงเรียนไปให้ได้

มีหลายเล่มให้โหลดฟรีอีกในเวปของมูลนิธิสยามกัมมาจล ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
https://www.scbfoundation.com/publishing.php?project_id=292

2 comments:

  1. พี่ชื่นชมในความขยันของเราจริงๆ และพี่ขอสารภาพว่าพี่ยังอ่านไม่ได้ครึ่งของเราเลย ต้องกลับมาอ่านต่อบ้างแล้วหละ ขอบคุณที่อ่านนะ

    ReplyDelete
  2. เยี่ยมจริงๆ ขอบคุณสำหรับการเเนะนำหนังสือดีๆนะค่ะ

    ReplyDelete