ที่นี้โรงเรียนบ้านปลาดาวที่ซึ่งเชื่อในทฤษฎีการเรียนรู้ Constructivism เชื่อว่าความรู้เกิดจากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ตัดสินใจเอง ไม่มีการสอน นักเรียนที่นี้มีช่วงเวลาเลือกเองว่าจะเข้าเรียนอะไร จะสร้างผลงานใด มีเพียงโค้ช (จะประจำที่ห้อง Makerspace) ที่คอยเป็นผู้ตั้งคำถาม และอำนวยความสะดวกต่างๆให้กับนักเรียน ระหว่างที่กำลังเขียนอยู่นั้นก็มีนักเรียนประถม 2 ถามโค้ชของเธอว่า "อันนี้ใช่น้ำตาลปี๊บหรือเปล่าค่ะ" โค้ชก็ถามกลับว่า "แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรหละ" นักเรียนคนนั้นก็ตอบว่า "ก็ชิมค่ะ" แล้วก็แกะหนังยางที่ผนึกถุงไว้ออกมาชิบ และนำไปใส่ส้มตำที่เพื่อนของเธอกำลังทำอยู่ เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากตัวเด็กเองอย่างแท้จริง
เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนผมรู้จัก Starfish ผ่านงานที่เข้าไปคุยและเริ่มศึกษาเรียนรู้มากขึ้นจากการถามวี (เพื่อนในวงการศึกษาคนหนึ่ง) ที่เคยไปดูงานมาครึ่งวันและพบว่าสิ่งที่เราเคยทำกับเด็กที่ผ่านมา มีคนทำแบบนี้และจริงจังด้วยในประเทศไทย และทิศทางเหมือนกันมาก เมื่อเกือบสองปีก่อนผมเคยไปช่วยกลุ่ม Little Builder ซึ่งใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) นั้นเป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักทฤษฎีการเรียนรู้ Constructivism พี่เต้ผู้ก่อตั้งโครงการเชื่อมั่นในสิ่งนี้มากและพยายามดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมา ผ่านกระบวนการพาลงชุมชนและให้เด็กแก้ไขปัญหา เมื่อหนึ่งปีก่อนโครงการ Summer school ที่ทำให้กับโรงเรียนวัดนาวง ผ่านกิจการเพื่อสังคมชื่อ Edwings ใช้รูปแบบการบูรณาการความรู้เข้ากับการเรียนรู้จากการทำโครงงาน (Project based learning: PBL) เราจัดหลักสูตรวิชาการในตอนเช้าและให้นักเรียนลงมือสร้างผลงานในตอนบ่าย โดยแบ่งห้องตามความสนใจของเด็ก
ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความบังเอิญ ความไม่รู้ หรืออะไรกันแน่ทำให้การเดินทางในครั้งนี้สะท้อนกลับไปยังสิ่งที่ทำว่ามันคล้ายคลึงกันมากขนาดนี้แต่เรากลับไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีคนทำ ที่ Starfish Makerspace จะแบ่งออกเป็น 4 ห้องเรียนด้วยกันได้แก่ ห้องทำอาหาร ห้องผ้า ห้องศิลปะ และห้องช่าง นักเรียนจะเลือกเข้าห้องเรียนเองตามความสนใจตั้งแต่อนุบาลและสามารถเปลี่ยนห้องเรียนได้ตลอดเวลา ตอนเช้าเรียน ไทย คณิต วิทย์ และตามด้วย Makerspace ส่วนช่วงบ่ายจะเป็นช่วงที่นักเรียนจะได้ทำ PBL โดยจะมีห้องให้นักเรียนได้ค้นคว้าหาข้อมูลเขียน วิเคราะห์สรุปความจากสิ่งที่ได้ค้นคว้า
ห้อง PBL ตื่นตาตื่นใจผมมาก เพราะเด็กประถม 2 ที่เข้าไปใช้ห้องมีเครื่องมือที่หลากหลายในการสืบค้นและทำรายงาน บางคนใช้ iPad ในการสร้าง Mind map ให้ Google เพื่อค้นหาข้อมูล มี check-list ที่ครูทำใน word ที่เด็กจะต้องเข้าไปเช็คตลอดเวลาว่าค้นหาอะไรไปแล้วบ้าง อะไรค้นหาไม่เจอบ้างครูไม่ได้เข้าไปสอนให้นักเรียนใช้วิธีการตามครูแต่อย่างใด หัวข้อที่นักเรียนเลือกก็เลือกตามความสนใจ กลุ่มเด็กผู้หญิงก็เริ่มจากคำถามว่าทำไมถึงตัวดำ แล้วก็ตั้งข้อคำถามที่ต้องทำการค้นคว้าต่อ หัดไปอีกฝั่งหนึ่งกลุ่มเด็กผู้ชายสนใจเรื่องตุ๊กแกก็ค้นและอ่านกันอย่างสนุกสนาน มองไปภาพรวมก็จะเห็นทั้งการใช้เทคโนโลยี กับการเขียนด้วยมือสลับกันไปอย่างลงตัว ไม่ทิ้งสิ่งใดไป
เมื่อสัปดาห์ก่อนผมไปเจอคุณหมอท่านหนึ่งตอนไปฟังเรื่อง Finger scan (เครื่องมือค้นหาตัวเองผ่านลายมือ) ซึ่งบางคนก็เชื่อ บางคนก็บอกว่าเป็นการลำเอียงทางสถิติ แต่ช่างเถอะประเด็นที่จะเล่าให้ฟังคือ คุณหมอก็มีความคิดสุดโต่งที่น่าสนใจ บอกว่าเด็กควรยกเลิกวิชาการให้หมดและปล่อยให้พวกเขาเล่นจนถึง ม.3 เพราะว่าความรู้เราสามารถเรียนภายในสามปีเพื่อเข้ามหาลัยได้ คำว่าเล่นในมุมของคุณหมอคือการฝึกทักษะ ซึ่งผมมองว่าสอดคล้องกับที่ Starfish กำลังทำอยู่
ด้านการพัฒนาการ Starfish มุ่งเน้นอยู่ 9 ด้านด้วยกันโดย 4 ด้านแรกจะเป็นเรื่องของสติปัญญา (Cognitive) ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง 4Cs = Critical Thinking, Creativity, Communication, Collaboration และอีก 5 ด้านที่เหลือเป็นเรื่องของสังคม (Social) ผมเคยถามว่าทำไมต้องเป็นเก้าอย่างนี้ ทางพี่แพร (ที่รับดูแลมูลนิธิอยู่ปัจจุบัน) ก็เล่าว่ามันไม่ได้ตายตัวว่าจะต้องเป็นเก้าสิ่งนี้ เพียงแต่สิ่งที่ทำรวมกับสิ่งที่ค้นคว้าเราได้ผลลัพธ์เหล่านี้ออกมา แต่ถ้าเปลี่ยนบริบททักษะที่ควรพัฒนาในเด็กก็อาจจะเปลี่ยนไป เช่นเด็กมัธยมที่มากับครอบครัวที่เป็นแรงงานข้ามชาติ พวกเขาควรจะต้องรู้ความฉลาดทางการเงิน (Financial Literacy) ก็ต้องใส่ให้เขา
ทักษะก็ต้องตามมาด้วยการประเมิน จุดบอดของการศึกษาไทยคือเราไม่สามารถหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการประเมินทักษะของคนได้ เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงยังคงมีแต่ O-net และทำไมเราถึงเน้นวิชาการมากมาย เพราะเราวัดทักษะอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ ผมไม่ได้บอกว่าเราวัดไม่ได้ซะทีเดียว เพราะถ้าเราเอาผู้เชี่ยวชาญมาอยู่กับเด็กในช่วงเวลาหนึ่ง สังเกตพฤติกรรมและการตัดสินใจก็พอจะประเมินทักษะของเขาได้ แต่ค่าใช้จ่ายหละ และความน่าเชื่อถือหละซึ่งทำให้เรายังไม่มีเครื่องมือวัดทักษะที่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ยุคสมัยนี้เราพูดถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 กันบ่อยมาก
การจะวัดทักษะทางความคิดเราสามารถดูจากผลงานหรือการสังเกตได้ แต่การวัดเรื่องสังคมต้องสังเกตอย่างเดียว ผมเลยพยายามเรียนรู้ว่าที่นี้เขาประเมินนักเรียนกันอย่างไร ก็พบว่าเขาใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมและถ่ายรูปไว้ เพราะโค้ชคงจะจดบันทึกไม่ทันแน่ เคยถามว่ามี Classdojo นะแต่เนื่องจากห้องเรียนมีการเปลี่ยนแปลงนักเรียนตลอดเวลาการใช้เครื่องมือดังกล่าวจึงไม่สะดวกนัก โค้ชจะสังเกตเช่น เด็กเข้าไปช่วยเพื่อน เด็กรับฟังความเห็นของเพื่อน เป็นต้นและจะถ่ายรูปไว้ บางครั้งดูจากผลงานได้ มีจุดที่ยังพัฒนาต่อไปได้อีกมากเช่นกัน ยิ่งเด็กอนุบาลความยากในการประเมินจะเพิ่มขึ้น เพราะเด็กอนุบาลอ่านไม่ได้และไม่สามารถเขียนสื่อความได้ดีนัก ต้องใช้การสังเกตและการพูดคุย
ถึงเวลาต้องกลับมาทบทวนงานตัวเองใหม่ คิดว่าคงจะมีจุดเปลี่ยนดีๆเกิดขึ้นแน่ (แค่อยากตัดจบเฉยๆใช่ไหมหละ)
No comments:
Post a Comment