Sunday, December 23, 2018

Module 5: Boundary Borderless - แอบรักเพื่อนบ้าน

คุณครู นักเรียน โรงเรียน

Boundary Borderless แอบรักเพื่อนบ้าน

“Where there is love there is life.” -  Mahatma Gandhi
"ที่ใดมีรัก ที่นั้นมีชีวิต" - มหาตมะ คานธี

การเดินทางครั้งนี้เราไปเพื่อหลงรักและเรียนรู้ ไม่อาจบอกได้ว่าสิ่งใดมาก่อนกัน ความรักหรือความเข้าใจ กับคำว่า "ทวายที่ฉันไม่รู้จัก" ไม่เคยได้ยินชื่อเมืองนี้มาก่อน จนกระทั้งได้มาเยือน จะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการศึกษาที่แท้จริงได้หรือเปล่านะ เรียนรู้ที่จะรักและทำให้ความเป็นมนุษย์ในตัวของพวกเรางอกงามขึ้นมา และวินาทีนั้นเองชีวิตได้ถือกำเนิดขึ้นจากความรัก

1 - Stereotype: การเหมารวม

เด็กกับบ้านหลังเขียว เป็นสีที่มีให้เห็นจนชินตา

หากนึกถึงประเทศเหล่านี้อะไรที่ขึ้นมาในหัวเรากัน ลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย? (ถ้าเป็นไปได้ลองจินตนาการไวๆ ก่อนอ่านต่อไป) ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบวิชาสังคมทั้งหมด ตอนเด็กก็ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมเพื่อนถึงชอบวิชาสังคมกันจัง แต่วันนี้เรารู้แล้วว่าวิชาสังคมไม่ใช่ หนังสือกระดาษสีน้ำตาล ที่ประกอบไปด้วยรูปและตัวหนังสือ หากแต่เป็นการเชื่อมโยงของคนถึงคนที่มีชีวิตมากกว่าหนังสือและประวัติศาสตร์ที่ได้ตายไปแล้ว

ประเทศลาว - "Battery of Asia" "เบียร์ลาว" "ประเทศที่สงบ" "ผู้หญิงสวย"
... แต่เราก็รู้อะไรเกี่ยวกับลาวน้อยมาก
ประเทศพม่า - "แรงงานในไทย" "โรฮิงญา" "ท่าเรือน้ำลึก" "เขตเศรษฐกิจพิเศษ"
... ไทยเข้าไปมีส่วนในพม่าอย่างไร
ประเทศกัมพูชา - "เขาพระวิหาร" "ประวัติศาสตร์อันน่าเศร้า" "โขน" "ไสยศาสตร์"
... บางทีประวัติศาสตร์ก็บิดเบือน
ประเทศมาเลเซีย - "เขามายุ่งกับสามจังหวัดทำไม" "เพื่อนบ้าน"
... ประเทศที่คนแตกต่างเขาอยู่กันยังไง

ผมจำได้ไม่หมดว่าในกระดาษที่พวกเราเขียนแผ่นนั้นเราเปิดใจที่จะเล่าเรื่องอะไรกันบ้าง สิ่งสำคัญคือการที่เราได้สะท้อนความเชื่อฝังลึก ความคิดที่มีอยู่ของเราแต่ละคน และได้รับฟังอย่างไม่ตัดสินกับเสียงจากฝั่งตรงข้าม กับความคิด ในขณะเดียวกันนั้น

ประเทศไทย - "หยิ่งยะโส" "ไม่ฟังใคร" "มีคนต้นแบบมากมาย" "การหักหลัง" "เพื่อนบ้าน"

... แล้วประเทศเพื่อนบ้านเขามองเราอย่างไรนะ

ภูมิคุ้มกัน (Immunity) ของเราก็ทำงานกันเล็กน้อย บางคนเกิดอารมณ์ขึ้นมาอย่างเงียบๆ "มันเป็นความคิดแบบเหมารวม ไม่ใช่คนไทยทุกคนเป็น" มันอาจจะไม่เป็นความจริง แต่ในช่วงเวลานั้น มันเป็นความจริงที่เพื่อนของเราคิดเช่นนั้น เป็นสิ่งที่อยู่ในหัวของพวกเรา บางอย่างมาจากหนังสือเรียนสังคมที่พวกเราเรียน ประวัติศาสตร์ถูกเขียนเพื่อเล่าความจริง "ในแบบที่เราอยากให้เป็น"

จุดเริ่มต้นของคำถาม กำลังพาเราให้ก้าวออกเดิน เพื่อไปค้นหาคำตอบด้วยตัวของพวกเราเอง ค่ำคืนนี้ผ่านไปด้วยเสียงเพลง ภาษา อาหาร และเครื่องแต่งกาย ที่ทำให้เราพบว่าเราต่างไม่ต่างกัน "เส้นแบ่งเขตแดน" ต่างหากที่แบ่งแยกพวกเราออกจากกัน ให้พวกเราไม่ใช่พวกเขา

2 - Please call me Kachin: โปรดอย่าเรียกฉันว่าคนพม่า โปรดเรียกฉันคนคะฉิ่น

วัดพระเจดีย์ชเวตองจา (Shwe Taung Sar Zedi)
คะฉิ่นเป็นรัฐหนึ่งที่อยู่ตอนเหนือของพม่า มีกองกำลังสู้รบกับรัฐบาลพม่าอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะการเอาเปรียบที่รัฐบาล (ทหาร) ของพม่าเอาไปจากพื้นที่ทั้งทรัพยากรและอิสระภาพ คะฉิ่นไม่ใช้เป็นเพียงกลุ่มเดียวในพม่าที่มีปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ในพม่ามีหลายรัฐมากที่ไม่ยอมรับว่าตนนั้นคือพม่า ต่างรัฐต่างมีธงของตนเอง

ตัดภาพมาทีธรรมชาติของคะฉิ่นเป็นธรรมชาติที่สวยงาม มีหิมะ มีเขาที่สูงที่สุดอยู่ซึ่งเป็นแนวเขาเดียวกับหิมาลัย มีการขุดค้นพบฟอสซิล เจอหยกก้อนใหญ่ (ที่สุดท้ายรัฐบาลพม่าก็เอาไป) แต่ถึงกระนั้นด้วยความที่มีปัญหาปะทะกันตลอดเวลา สถานที่นี้จึงเข้าถึงได้ยากนัก คาดการณ์กันว่าถ้าเกิดความสงบขึ้นคะฉิ่นจะเป็นอีกที่ที่น่าไปเที่ยวแน่นอน

เป็นการทรยศของรัฐบาลหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชนกลุ่มน้อยที่คาดว่าจะได้ปกครองตัวเองตามที่ได้สัญญากันไว้กลับถูกครอบด้วยรัฐบาลกลางของพม่า และที่ตั้งของรัฐคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ของเศรษฐกิจพม่า ทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อกับประเทศอื่น มีทรัพยากรธรรมชาติ แต่พวกเขากลับยังคงยากจนและอ่อนแอ

AEC (ASEAN Economic Community) หนึ่งในสามเสาหลักของ ASEAN เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นสามารถมาลงทุนข้ามประเทศกันได้ โดยปราศจากภาษีหรือภาษีต่ำ ดึงดูดนักลงทุนจากประเทศที่พัฒนากว่าให้ไปลงทุนในต่างแดน เช่น ไทยไปลงทุนเขื่อนในประเทศลาว ไปลงทุนบ่อก๊าซธรรมชาติที่พม่า เป็นต้น ประเทศที่เปิดให้มีการลงทุนก็คาดว่าประเทศจะพัฒนาขึ้นจากการมีงานและโครงสร้างพื้นฐานที่เข้าไปถึง

โครงการก๊าซธรรมชาติสี่โครงการในพม่า มีการต่อท่อส่งกลับมายังประเทศไทยผ่านกาญจนบุรี และอีกส่วนส่งต่อไปยังประเทศจีน โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไทยเข้าไปลงทุนที่ทวาย (เราจะเดินทางไปดูพรุ่งนี้)

ผมย้อนกลับมาในห้องอบรมสี่เหลี่ยม แอร์ที่กำลังเดินเครื่องอยู่ก็มาจากพลังงานก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของไทย ขณะที่เรากำลังสบายอยู่คนพม่าที่ใกล้แหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ กลับยังคงใช้ solar cell ในการผลิตไฟและเคยมีแผนจะใช้พลังงานถ่านหินที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของชาวบ้าน เหมือนถ่านหินทร่เกิดการสันดาษตัวเอง สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อชีวิตมนุษย์โดยรอบอย่างยิ่ง

"เรากำลังยืนอยู่บนอะไรอยู่" ผมคิด ความสะดวกสบายของคนกลุ่มหนึ่งที่มาจากความทุกข์ยากของคนอีกกลุ่มหนึ่งโดยที่เราไม่รู้สึกอะไร เพราะเราไม่รู้เราไม่เห็น คนที่รู้ก็หาประโยชน์จากมัน

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในพม่าที่จะมีขนาดใหญ่กว่ามาบตาพุดที่ไทยสิบเท่า ทำให้ชาวบ้านที่มีที่ทำกินหลายครัวเรือนต้องออกจากพื้นที่ แหล่งโบราณสถานถูกทำลาย

ความก้าวหน้าของประเทศกับความเป็นธรรมในสังคม กลไกของระบบทุนที่ทำงานของมัน ในขณะที่ระบบของอำนาจทำให้เสียงที่จะคานระบบทุนเงียบลง ในทุกวันนี้เรามีองค์กรที่เข้าช่วยเหลือเพื่อนให้คนสามารถเรียกร้องและมีสิทธิมีเสียงในประเทศมากขึ้น แต่นั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้พลังและเสียงของคนรุ่นใหม่ร้องดังขึ้นท่ามกลางอำนาจที่รัฐมีได้

กลไกของประเทศแต่ละประเทศกำลังเดินไป กลไกของโลกกำลังเดินไป ทุกการเคลื่อนไหว การต่อสู้ นโยบาบเป็นการคานของอำนาจ เพื่อให้เรายังคงรักษาความเชื่อเรื่องเสรีนิยมให้คงอยู่ไว้ โลกต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาเรื่องคนสิ่งไหนจะทำลายเราก่อนกัน เราจะอยู่รอดจากสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ต่อจากนี้เป็นการเรียนรู้เพื่อลงมือทำเปลี่ยนแปลงในจุดของเรา...โชคดีไหมที่เกิดมาเป็นคนไทย

3 - Foreign labor: แรงงานพม่า ที่ย้อนกลับมาสู่บ้านเกิด


พ่อค้าที่เคยทำงานที่ไทย

ระหว่างการเดินทางด้วยรถตู้จากด่านที่กาญจนบุรี สู่เมืองทวาย เป็นทางลูกรัง ที่ชวนให้อาหารเช้าที่ทานไปย่อยหรือไม่ก็พร้อมที่จะเดินทางออกมาได้ทุกเมื่อ สองข้างทางเราจะเห็นโรงงาน และบ้านพักคนงาน บางโรงงานก็เป็นของไทย มีรถขนส่งแก๊สขับผ่านเราไปอยู่สองคัน ด้วยสภาพถนนที่ไม่ค่อยดีนัก เราทำได้แต่นั่งมองดูฝุ่นตลบที่เกิดขึ้นจากรถที่วิ่งผ่านไปมา กับดินที่แห้งเป็นฝุ่นผง ใบไม้ต้นไม่สองข้างทางที่เคลือบด้วยฝุ่นดูแปลกตา

มามองภาพรวมทางเศรษฐกิจของพม่ากันหน่อย รายได้ครึ่งหนึ่งของพม่ามาจากการขายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสิ่งที่ขายเป็นจำนวนมากนั้นคือน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ การทำเช่นนั้นไม่ส่งผลดีกับคนพม่าด้วยสองประการ หนึ่งคนพม่าไม่มีงานทำเพราะเอาสิ่งที่มีไปขายเลย สองพม่าต้องซื้อสิ่งที่แปรรูปจากทรัพยากรของตัวเองกลับมาอีกที

แต่ทว่าเงินที่ได้จากการขายทรัพยากรของตนเอง ไม่ได้ถูกเอามาลงกับการพัฒนาคนของประเทศซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดของประเทศ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะมาจากคนที่มีคุณภาพ

วงจรที่กำลังดำเนินอยู่กับพม่าเป็น ดังนี้ คนพม่าไม่มีงานทำ คนพม่าเดินทางมาทำงานในไทย รัฐไม่สามารถพัฒนาคนของตนได้ รัฐขาดแรงงานที่มีฝีมือ รัฐไม่สามารถขยายตลาดแรงงานได้ คนพม่าไม่มีงานทำ ยังมีอีกหลายปัจจัย ทั้งเรื่องความอดอยาก อาหารที่ไม่เพียงพอเพราะน้ำท่วมบ่อยครั้ง

ตลาดนัดเป็นแหล่งที่ เราจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนทวาย เราจึงเดินหาร้านค้าข้างทาง หรือตลาดซักแห่ง จนไปเจอถนนที่มีร้านค้าเรียงราย สิ่งที่สังเกตเห็นคืออาหารที่ขายส่วนใหญ่เป็นอาหารไทย หลังจากถามไถ่ จึงได้รู้ว่าพ่อค้าแม่ค้าแถบนี้เคยไปทำงานร้านอาหารที่ไทยมาก่อน เขาบอกว่าเขาจำวิธีการทำอาหารไทยได้ แต่อาหารพม่าจำไม่ได้แล้ว

สุดท้ายพวกเขาก็กลับมาสู่บ้านเกิด ระหว่างนั่งทานอาหารไป ขอฝึกภาษาพม่าไป เราพบว่าคนพม่าที่นี้ยิ้มแย้มนิสัยดี เอาจริงแล้วเราควรยกคำว่าเมืองยิ้มให้เขาหรือเปล่านะ "ทวายเมืองยิ้ม"

4 - Formal and Informal Education: การเรียนรู้ในห้องเรียนและน้องห้องเรียน

เช้านี้มีโอกาสได้วิ่งรอบที่พัก ผ่านวัดและร้านค่าต่างๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเสียงท่องบทเรียนที่จะลอยออกมาจากอาคารที่ดูเหมือนบ้านเรือนทั่วไปอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เวลาประมาณ 6 โมงเช้าในวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำให้เกิดคำถามกับการศึกษาของที่นี้ เราเคยเชื่อว่าเราติวกันหนักแล้ว เช้าขนาดนี้เขาเรียนกันหนักกว่าเราหรือเปล่านะ


มหาลัยทวายที่ไม่ได้รับการดูแล

ห้องเรียนที่ดูทรุดโทรมเป็นห้องเรียนของ Dawei University ที่ไม่ได้รับการดูแลแม้ว่าวันจันทร์ถึงศุกร์จะมีการเรียนการสอนก็ตาม โต๊ะที่ฝุ่นจับหนา เศษชอล์กที่กระจายตามพื้นห้อง และโต๊ะเรียนที่ถูกเรียงอย่างเป็นระเบียบ ทั้งหมดนี้เป็นเศษส่วนหนึ่งที่สะท้อนกับการบริหารจัดการของรัฐบาลพม่า ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา

หลังจากถามเรื่องราวจากพี่ทีมงานที่ไปด้วยกันก็พอจะจับความได้ว่า ในอดีตเคยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยมาเดินเรียกร้องกับรัฐบาลในตัวเมืองย่างกุ้งในปี 1988 รัฐบาลก็เข้าควบคุมมหาลัย ย้ายมหาลัยออกไปอยู่ไกลจากตัวเมือง และยังลดการเข้าถึงของการศึกษาคนลงไปอีกเพื่อใหัควบคุมคนได้มากขึ้น

ผมเคยถามเพื่อนพม่าคนหนึ่งที่ไปด้วยกัน เขาบอกว่า การเรียนการสอนที่นี้ยังคงเป็นการสอนตามตำรา ที่อาจารย์ ครู อ่านหนังสือตามตำราสอนนักเรียน นักศึกษาอยู่ ไม่ได้มีกระบวนการในแบบที่พวกเรามักจะได้เรียนกัน หรือต้องทำให้กับนักเรียนของเราเอง

งานหลงรักทวาย

ถ้าจะจินตนาการภาพตามว่างานหลงรักทวายเป็นอย่างไร ให้นึกถึงงานตลาดนัดแถวต่างจังหวัด มีเวทีการแสดง ของกิน เด็ก คนแก่ ครอบครัว วัยรุ่น การแสดงวัฒนธรรม การแสดงดนตรีของคนรุ่นใหม่ มีชาวบ้านที่เป็นชาวประมงกลุ่มใหญ่ที่มางานนี้ มีชาวบ้านทำขนมมาแจกฟรีให้คนที่มางานกินกัน

บนเวทีมีงานเสวนาของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการศึกษาของคนในพม่าเราก็มีส่งตัวแทนคนหนึ่งไปด้วยเช่นกัน สิ่งที่แปลกใจคือสายตาของทุกคนตั้งใจฟังสิ่งที่พูดบนเวทีมากจนน่าแปลกใจเพราะถ้าเขามาบันเทิงอย่างเดียว การมาฟังอะไรแบบนี้เขาน่าจะไม่สนใจ แต่กลับเป็นว่าไม่ว่าคนแก่ พ่อแม่ เด็กต่างก็ฟังกันหมด

เรียกได้ว่าการศึกษาเป็นโอกาสที่มีน้อยในยุคสมัยที่ผ่านมา และชาวบ้านเชื่อว่าการศึกษา เพื่อสร้างคนจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นโดยรวม ทวายสามารถเป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้ แต่ต้องมาพร้อมกับการสร้างคนที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

มีการคุยกันว่าการศึกษาคืออะไร ปัญหาไม่แตกต่างจากไทย การสอนแบบท่องจำ และใช้จริงไม่ได้ หันกลับมาอีกภาพหนึ่ง งานหลงรักทวายนี้หละคือการศึกษา เด็กได้เรียนรู้วัฒนธรรม การแสดง อาหาร จากการร่วมงานพร้อมพ่อแม่ของพวกเขา มันมีความเป็นคนกับคนที่เชื่อมถึงกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่การศึกษาดึงออกไปจากการเรียนรู้อย่างน่าตลก

จากภาพที่เห็นเชื่อว่าพม่ากำลังจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกมากมายที่จะต้องเผชิญ เช่น หลักสูตรในมหาลัยที่ไม่เอื้อต่อการไปศึกษาต่อต่างประเทศ คนที่มาเรียนหมอแล้วไม่ไปเป็นหมอเพราะค่าแรงถูกเกินไป มีเพื่อนพม่าผมหลายคนเป็นเช่นนั้น การศึกษากับแรงงานเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองแยกจากกันได้ ใช่การศึกษามีเพื่อเป้าหมายในชีวิตที่มากกว่าการทำงาน แต่เราไม่อาจมองข้ามปากท้องที่จะได้รับการเติมเต็มจากการศึกษาไปได้


5 - Religions - พุทธ ฮินดู อิสลาม



พระที่ดูแลนักเรียนหญิง
ผมมองเรื่องของศาสนาเป็นเรื่ององค์ความรู้ในระดับ 1,000 - 2,000 ปีขึ้นไป และยังคงใช้งานได้ถึงปัจจุบัน ความไม่ธรรมดาไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม เป็นการสั่งสมเรียนรู้สร้างกฎข้อกำหนดต่างๆ ความรู้ทางด้านจิตวิญญาณ หากมีโอกาสและเจออาจารย์ดีๆ ผมก็อยากเรียนรู้ทางนี้บ้างเช่นกัน เลยตัดสินใจไปดูพื้นที่ ที่สามศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้ อยู่ห่างไม่ไกลจากโรงแรมที่เราพักอยู่ เพิ่งมารู้เอาตอนที่ได้ไปแล้วมาวิ่งตอนเช้าอีกวันว่า อ้าวใกล้แค่นี้เอง

ในพม่าจะชอบมีข่าวโคมลอยว่าคนอิสลามทำร้ายคนพุทธ และกระจายไปตามสื่อออนไลน์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันจริงไหมตามประสาข่าวที่ไม่มีที่มาที่ไป แต่คนก็เชื่อกันมาก และกลัวคนอิสลามกันมาก จนถึงขั้นที่มีการแจ้งไปทั้งรัฐบาลให้มีการดำเนินการต่างๆ อย่างเคร่งครัด

ความแตกต่างที่มองเห็นแต่ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดน ชุมชนนี้อยู่กันได้อย่างไร แรกสุดเราเข้าไปที่วัด สิ่งที่แปลกใจคือการบอกเล่าว่าโรงเรียนวัดแห่งนี้ มีเด็กคริสต์มาเรียนในวัด ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่มีเงินเรียน เลยไม่ได้ไปโรงเรียนรัฐบาลหรือแม้กระทั้งในโบสถ์ด้วยเช่นกัน และพระที่นี้ค่อนข้างใกล้กับเด็กผู้หญิง หากเป็นในไทยคงจะถือว่าผิดศีลไปแล้ว

ข้ามฝั่งมามีวัดฮินดูและมัสยิด อยู่ถามเรื่องราวจึงทราบว่า สามสถานที่ทางศาสนานี้ ไม่ได้ต่างคนต่างอยู่ ถ้ามีงานพิธีอะไรคนก็จะมาเข้าร่วมกันหมด อิสลามก็เข้าพิธีของพุทธได้ ฮินดูก็เข้าของอิสลามได้ อาหารก็ทานแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสบายเพราะที่นี้อาหารส่วนใหญ่เป็นปลาจากแม่น้ำและทะเล

การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเช่นนี้ ทำให้กลุ่มของศาสนาเข้มแข็ง เมื่อมีการจับตามมองจากภาครัฐถึงศาสนาอิสลาม ก็จะพบว่าอิสลามที่นี้อยู่กับคนพุทธได้ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรจะเข้ามาแทรกแซงได้ ศาสนาจึงอยู่กันได้อย่างสงบ

เป็นความแตกต่างที่มีจุดร่วมกัน เพราะเราต่างมีความรู้สึกของความเป็นเพื่อนมนุษย์ไม่แตกต่างกัน

6 - Kalonetar with Pooh: เสวนา กาโลนท่า กับหมีพูห์

บ้านพม่าจะมีส่วนที่ยื่นออกมาแทบทุกหลัง

"นายกำลังทำอะไรอยู่หรอ"
"ฉันกำลังคิดว่าจะเล่าเรื่อง กาโลนท่า ยังไงอยู่หนะ"
"กระโถนน้ำผึ้งหรอ"
"ไม่กาโลนท่าหนะ กาโลนท่า เป็นหมู่บ้านหนึ่งในพม่า"
"แล้วที่นั้นมีน้ำผึ้งไหม ที่ไกนที่มีน้ำผึ้งเรื่องเล่าจะดีเสมอ"
"มีสิมีเป็นน้ำผึ้งป่าด้วยนะ เป็นความหวานที่มาจากใจกลางป่าที่พวกงเขาดูแลรักษา"
"นายจะเขียนเรื่องกระโถนน้ำผึ้งหรอ"
"เออเปล่าหนะ ฉันแค่ตอบคำถามเฉยๆ หนะพูห์ แต่ว่านายกินได้นะฉันเอามาขวดเล็กขวดหนึ่ง กะว่าเอาไว้กินตอนปวดท้อง เขาบอกว่ามันใช้เป็นยาได้หนะ"
"จริงหรอนายใจดีจัง มิหน่าหละฉันเลยไม่เคยป่วยเพราะฉันกินยาตลอด ฉันหมายถึงตรงนี้นะ" หมีพูห์ชี้ไปที่หัวใจของมัน แล้วกระโดดล้มลงที่พื้น เดินไปหยิบน้ำผึ้ง

"เอาหละนายได้ที่แล้วใช่ไหม ฉันคงต้องผึ้งนายแล้วหละพูห์สำหรับบทความบทนี้"
"ให้ฉันช่วยหรอ แต่ฉันไม่มั่นใจเท่าไรนะ"
"ไม่เป็นไรแค่นั่งฟังก็พอ แค่นี้ก็ช่วยได้แล้วหละ"

ประเทศพม่าเพิ่งเปิดกว้างมากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง และพวกเขาเชื่อว่าการลงทุนจากต่างประเทศ จะช่วยสร้างงานและพัฒนาประเทศได้ โครงการอุตสาหกรรมจึงเกิดขึ้น หมู่บ้านหลายที่ถูกขอให้ย้ายออกจากบริเวณที่จะมีโรงงาน ซึ่งตอนนี้หมู่บ้านเหล่านั้นหายไปแล้ว และมีแต่ความว่างเปล่าเพราะโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ถูกระงับลง เพราะการต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้าน ทำให้บางหมู่บ้านยังคงอยู่ได้ กาโลนท่า เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่อยู่ได้ จากการที่จะเป็นพื้นที่น้ำท่วมเพราะการสร้างเขื่อน เพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และกานผลิตไฟฟ้า

"แล้วพวกเขาผ่านมันได้ได้ยังไงหละ"
"พวกเขาก็ไปถามผู้รู้หนะ ว่าควรจะต้องทำอย่างไร"
"พวกเขาไปหาอาล์วหรอ อาล์วเขาดูมีความรู้มากมายเลยนะ"
"ก็อาจจะใช้นะ แต่เขาไม่ได้ไปหาอาล์วแค่คนเดียว เขายังหาเครือข่ายต่างๆ ในทวาย และสื่อเพื่อที่จะบอกเล่าเรื่องราวของหมู่บ้าน และผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน"
"ฉันว่าพวกเขาเหมือนฉันเลย เขารักน้ำผึ้งหนะ อืมรักษาป่าเพื่อให้มีน้ำผึ้งไว้กิน"
"ใช้แล้วพูห์นั้นคือความสุขของชีวิตเลยหละ และฉันว่าพวกเขาก็ออกจะเหมือนนายนะ ผ่านปัญหาไปได้เรื่อยๆ อย่างเป็นธรรมชาติ และมองโลกในอย่างที่เป็น"
"พวกเขาก็ร้องเพลง ขนมครกเอยขนมครก ด้วยสินะ ถามมาฉันจะบอกไป ขนมเอยขนมครก"
"ขนมเอยขนมครก การมองโลกในอย่างที่มันเป็น ฉันชอบที่พวกเขาถ่อมตัว เขาเล่าทุกอย่างในแบบที่เป็น และขอคำแนะนำเสมอจากพวกเราทั้งที่ไปเรียนรู้จากเขา"

ที่ กาโลนท่า ก็ยังคงต้องสู้ต่อไป หากแต่เขายังคงพัฒนาชุมชน ทำการศึกษาธรรมชาติรอบหมู่บ้าน ตีพิมพ์หนังสือ ปรับปรุงหมู่บ้านใฟ้รองรับกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาโรงเรียนและสาธรณะสุขให้มีคุณภาพมากขึ้น ยังมีความท้าทายมาอีกเรื่อยๆ เหมือนคลื่นลมที่พัดเข้าฝั่ง เมื่อเรายังมีลมหายใจอยู่ปัญหาและอุปสรรคก็เป็นเรื่องธรรมดา ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

"นายจำตอนที่อียอร์ลอยน้ำมาได้ไหม ที่ทุกคนต่างแตกตื่น ไม่สิแค่พิคเล็คแตกตื่น ทิงเกอร์ ก็พูดไม่หยุด จู่ๆ นานก็เอาหินโยนลงน้ำไป และอียอร์ก็ลอยเข้าฝั่ง
"ฉันก็แค่ทำมันไง"
"ใช่เราก็แค่ต้องการคนลงมือทำบ้างหนะในบางครั้ง คนเราคิดกันเยอะเกินไปหน่อยนะฉันว่า"

จบแล้ว เพิ่มเติมที่หมู่บ้านกาโลนท่า ก็จะมีการปลูกเม็ดมะม่วงหิมะพาน และก็ปลูกหมาก ถ้าใครได้ไปเยี่ยมชมก็จะเจอการสับหมากแกะเปลือก มีลูกหมากวางบนก้อนหินที่กลางแม่น้ำ ชาวบ้านบอกว่า ความร้อนของหิน แสงที่ได้รับเต็มๆ จะทำให้หมากแห้งไวขึ้น และแม่น้ำห่างไกลจากฝุ่นได้มากกว่า การศึกษายังคงเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาขึ้นอยู่ เพราะที่นี้ไม่สามารถสอนเด็กจนถึงการศึกษาสูงสุดของระบบพม่าได้ (สูงสุดที่ grade 10) และยังขาดครูจำนวนมาก ปัจจุบันมีครูจากรัฐแค่สองคน ที่นี้เคยเป็นแหล่งทำเหมืองแร่ และยังคงมีแร่หลงเหลืออยู่ แม่น้ำระหว่างทางไปหมู่บ้านก็สวยมาก แต่เราจำชื่อไม่ได้ จุดศูนย์รวมของหมู่บ้านคือหลวงพ่อ ที่เป็นนักคิดและนักพัฒนา พาให้ชาวบ้านผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้

7 - Social Interaction: การปะทะสังสรรค์

ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ การเล่นก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

สุดท้ายพื้นฐานของมนุษย์คือสังคมและการได้มองเห็นซึ่งกันและกัน อย่างเป็นเนื้อแท้ พูดในสิ่งที่รู้สึก เป็นอิสระ ปะทะสังสรรค์ทางความคิด ความเชื่อ และความรู้สึก เป็นเนื้อแท้ที่ไม่ได้มีเปลือกนอกที่ซับซ้อนห้อหุ้มตัวตนที่แท้จริงของตนเอง

บางครั้งเราก็กลัวกันไว เหมือนเม่นในหน้าหนาว ความกล้าหาญที่จะความหวังดีกลับทำร้ายกัน ทิ้มแทงเหมือนเข็มเข้าที่อ่อนแอที่สุด ลึกที่สุดจนถึงใจกลาง ต่างคนต่างเจ็บปวด เข้าสู่สภาวะความย้อนแย้งในตนเอง ตีตัวออกห่างจากกัน แม้จะโหยหาหากแต่เจ็บปวด เริ่มหาระยะที่สบายใจ ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป หลีกเลี่ยงการปะทะสังสรรค์ และไม่ได้เติบโต

หากเชื่อมั่นในพื้นที่ปลอดภัยและการปะทะสังสรรค์แล้ว จงทำต่อไปแม้จักล้มเหลวและเจ็บปวด ทุกครั้งที่ปะทะกับภายในเราจะค่อยๆ ได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ การสลายความไม่รู้ทำให้เรากลัวน้อยลง เกลียดชังกันน้อยลง แต่หากย้อมแพ้เราจะติดอยู่ในสภาวะต่อไป ความพลาดมีเหตุ ความคิดที่ไม่ถูกต้อง ความรู้ที่บกพร่อง เครื่องมือที่ขาดการซ้อม มีหลายอย่างที่จะทำให้เราเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความกลัว เราหนีความกลัวด้วยคำว่า เกรงใจ กลัวคนตรงข้ามเสียใจ ไม่ว่ายังไงซะเราก็คือคนที่หนีปัญหาด้วยหน้ากากอีกชั้นและอีกชั้น ชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นจะสร้างโลกใหม่ โลกใหม่ที่เราจะมองเห็นความจริงได้น้อยลง น้อยลงไปทุกที เหมือนมีม่านบาง มาบังตาซ้อนหนาขึ้น และหนาขึ้น

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เลือกตลอดเวลา และเราเลือกตามประโยชน์และโทษที่มองเห็นตามระดับความเข้าใจโลกของเรา การเงียบเราได้ความปลอดภัย สบายใจ แต่เราสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป การปะทะเรามีความเสี่ยง เสี่ยงต่อการดูไม่ดี เสียความสัมพันธ์ ในขณะเดียวกันเราก็ได้แลกเพื่อรักษาตัวตนของเราไว้ ความเป็นอิสระ และพลังในการมีชีวิตต่อ ทุกครั้งที่เราเลือกเราเสียบางอย่าง แต่ก็ได้บางอย่างกลับมาเสมอ

ต่างคนต่างกลัว ความกลัวที่ไม่รู้จบ คนคนนี้ไม่คุยกับเราเลย เรากลัวว่าเขาจะไม่ชอบเรา ฝั่งตรงข้ามก็กลัวเพราะความเงียบของเรา การเรียกร้องให้คนอื่นเปลี่ยนมักจะไม่ได้ผล เราต้องเปลี่ยนที่ตัวของเราเอง เข้าไปพูดคุยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน ถ้าไม่ใช่เราแล้วใครหละ จะสร้างโลกในแบบที่เราอยากให้เป็น

8 - Conclusion: บทสรุป


การเรียนพิเศษก่อนไปโรงเรียนในยามเช้าตรู่

เป็นการเดินทางที่คุ้มค่ามาก ความเข้าใจทำให้มนุษย์ใกล้กันมากขึ้น อาจารย์ที่อเมริกามักจะสอนเสมอว่า คนเรากลัวเพราะเราไม่รู้ และเพราะเรากลัวเราจึงคิดมากไปต่างๆ นาๆ ไม่มีกฎหมายมาบอกว่าความไม่รู้เช่นนี้เป็นเรื่องที่ผิด แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราเปิดใจ เรียนรู้ความแตกต่างของคนอื่น สิ่งที่ได้คือเราก็กลัวน้อยลง เราก็มีอยู่ในสังคมที่มีความสบายใจมากขึ้น

ทุกวันนี้เวลาไปร้านอาหารถ้าเราแน่ใจว่าเขาเป็นคนพม่า เราก็จะขอบคุณเขาด้วยภาษาพม่า "เจซูบา" คนพม่าทุกคนบนโลกตอนนี้ปลอดภัยมากขึ้น และมากกว่านั้นเราเห็นความเป็นมนุษย์ของเขามากขึ้น เป็นคนที่ทุ่มเททำงานหนักเพื่อให้ได้อนาคตที่ดีขึ้นไม่ต่างจากเรา

เรายังคงทำงานด้านการศึกษาอยู่อย่างต่อเนื่อง และหวังว่าซักวันหนึ่งจะได้ขยายงานไปลงในประเทศพม่ามากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะมีอีกหลายเรื่องที่อยากเรียนรู้ และอยากให้คนในพม่าได้พัฒนาศักยภาพขึ้นมาด้วยเช่นกัน

บริษัทในประเทศไทยได้ประโยชน์จากพม่าเยอะมาก โดยที่คนพม่าส่วนมากไม่ได้อะไร ไม่ใช่ความผิดของไทย หรือคนพม่า แต่เป็นรัฐบาลที่ต้องดำเนินการเพื่อให้การลงทุนจากไทยเป็นประโยชน์โดยรวมต่อคนพม่าในประเทศ

สิ่งหนึ่งที่ชอบของพม่าแต่ไม่ได้เล่าคือ เครื่องแต่งกายประจำชาติ เป็นเรื่องปกติที่จะใส่กัน ไม่ว่าคนแก่หรือวัยรุ่น ก็ยังคงใช้โสร่งเป็นกิจวัติประจำวัน ต่างกับที่ไทยที่เราไม่ได้ใส่เครื่องแต่งกายประจำชาติของเรากันแล้ว ยกเว้นในวันสำคัญจริงๆ

อาหารไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดไว้ เพราะพ่อมักจะมีงานไปทำที่พม่า และเล่าว่าอาหารที่นั้นไม่สะอาด ก็คงมีพื้นที่ที่ไม่สะอาดอยู่จริง แต่ที่เราไปทานอาหารอร่อยก็มีมาก อาหารมันแต่ไม่มากจนเกินไป เราชอบกินปลาที่นี้มาก เนื้อแน่นและปรุงด้วยเครื่องเทศ

คิดว่าคงจะได้กลับมาอีกในเมืองอื่นๆ เป็นประเทศแรกที่เรารู้สึกว่าอยากกลับไปจริงๆ ตั้งแต่เดินทางออกนอกประเทศมาก คงเพราะเราได้รู้จักพม่ามากกว่าคำว่า "พม่า" ถ้าประเทศอื่นเราได้ไปแบบเจาะลึกแบบนี้บ้างก็คงจะดี ยังคิดเลยว่าถ้าไปลงเรียน Global Study ด้านการศึกษาจะทำให้เรามีโอกาสแบบนี้อีกหรือเปล่านะ การเปิดโลกมากขึ้น เท่ากับว่าเราเข้าใจโลกมากขึ้น และลงมือทำอะไรจากสิ่งที่มันเป็นจริงๆ

ขอบคุณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส. - TVS) มา ณ ที่นี้ด้วย และ Dawei Development Dssociation (DDA) องค์กรที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในเมืองทวายมาอย่างยาวนาน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของเพื่อนพม่าหลายคนที่มาเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนแบบนี้ การเปิดพม่าเป็นไปแค่ 3 ปีเท่านั้น หลังจากนี้พม่าดูน่าสนใจและน่าจับตามองมากขึ้น

เพื่อนๆ ดูเติบโตกันมากขึ้น คิดว่าไม่ได้คิดไปเอง คนที่ไม่กล้าพูดก็พูดมากขึ้น เรากลับมาฟังกันมากขึ้น ปะทะสังสรรค์กันได้มากขึ้น ออกเดินทางไปมีประสบการณ์ต่างๆ กลับมาแลกเปลี่ยนกัน แล้วเจอกันใหม่โมดูล 6