Friday, October 28, 2016

10 อันดับหนังสือที่อยากให้ครูไทยได้อ่าน


ช่วงนี้ว่างจัดเลยมานั่งเขียนบล็อคยาวๆ ใส่เนื้อหาแน่นๆ ได้เยอะขึ้น...อันที่จริงแล้วผมขี้เกียจเขียนแผนการสอนเลยมานั่งเขียนบล็อค อย่างหลังน่าจะตรงกว่า งานท่วมหัว ชีวิตสโลไลฟ์ 5555

โอเคนอกเรื่องอยู่หนึ่งย่อหน้า เนื่องจากวันนี้เจอพี่ ER ของทาง Teach for Thailand แล้วคุยกันถึงหนังสือที่ Fellow(ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง) รุ่น 2 ได้ แต่ถามไปถามมา รุ่น 3 ยังไม่ได้เลยซักเล่ม ไหนๆก็ยังไม่ได้หนังสือ ผมเลยอยากปรับหนังสือที่ขอการสนับสนุนจากทางมูลนิธสยามกัมมาจลใหม่ เล่มไหนที่อ่านแล้วผมรู้สึก Inspire และนำไปใช้ในห้องเรียนได้ก็อยากให้ครูหลายๆท่าน ที่ยังมีไฟท่วมอยู่ แบบอยากเปิดเทอมแล้วโว๊ย!!! ได้อ่านกัน...โอเคเริ่มจัดไปชุดใหญ่ไฟหระพริบ

1. TEACH Like Your Hairs On Fire - Rafe Esquith

ครูนอกกรอบกับนักเรียนนอกแบบ แค่ชื่อก็บอกได้ถึงความหลุดโลกของครูคนนี้แล้ว ในหนังสือเล่มนี้จะเป็นเรื่องราวของครูป.5 ประจำห้อง 56 คนนี้ อ่านแล้วคุณจะขนลุก ไฟท่วมหัว

ในด้านวิชาการ (Academic achievement) ครูเรฟจะเล่าถึงเทคนิควิธีการที่เขาใช้ซึ่ง ครูประถมอเมริกาสอนหมดทุกวิชา ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ละคร เป็นต้น ไม่ใช้ว่าผมจะให้อ่านเอา How to ไปใช้เพียงอย่างเดียว แต่อยากให้รู้สึกเหมือนที่ผมเป็นตอนอ่านหนังสือเล่มนี้ (หลังจากที่สอนไปได้ซักระยะ) เฮ้ยคณิตศาสตร์สอนแบบนี้ก็ได้หนิ กรอบความคิดของครูจะเปิดกว้างขึ้นมาทันที

ในด้านทักษะ (Essential skill) และคุณลักษณะ (Character strength) ก็พีคไม่แพ้ด้านวิชาการ เราจะได้เห็นวิธีคิดและวิธีการที่ครูเรฟร้อยเรียงผ่านตัวหนังสือตลอดทั้งเล่ม ครูเรฟพาเด็กทุกคนในห้องเล่นละคร เพราะเหตุใดนั้นอยากให้ไปลองอ่านกันนะครับ พอกล่าวถึงเรื่องละครแล้ว มีครู TFT บางคนถึงกับอินมาก พาเด็กๆในโรงเรียนเล่นละครไปด้วย

โหลดไฟล์ได้ที่: ครูนอกกรอบนักเรียนนอกแบบ.pdf

2. Embedded Formative Assessment

คุณวิจารณ์ พานิช แปลและเขียนหนังสืออีกหลายเล่มเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ผมได้ศึกษาจากท่านผ่านตัวหนังสืออีกเช่นเคย และก็ยังคงชอบเล่มนี้มากทีเดียว ใครเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

การประเมินเป็นสิ่งที่โคตรสำคัญสำหรับครู จริงๆสำคัญแทบทุกอาชีพ ซึ่งหลายคนใช้การประเมินผิดจุดประสงค์ การประเมินมีสองแบบด้วยกันคือ Formative และ Summative

อธิบายสั้นๆ Formative เราประเมินระหว่างการสอน จุดประสงค์เพื่อพัฒนาตัวผู้เรียนเป็นหลัก ส่วน Summative คิดซะว่าเป็นการสอบปลายภาคตัดเกรด ผู้เรียนได้ประโยชน์จากตรงนี้น้อย (ความเห็นส่วนตัว)

ตีความตามชื่อหนังสือเลย
Embedded = ฝังมันลงไปกับการสอน
Formative assessment = การประเมินระหว่างทางเพื่อพัฒนาผู้เรียน
ครูจะมีปัญหากับการประเมินเป็นอย่างมาก เช่น ทำให้ภาระงานมากขึ้น(ต้องมานั่งตรวจข้อสอบ) ผลที่ได้ก็ไม่ได้ใช้ในการสะท้อนกลับไปหาผู้เรียน หรือสะท้อนกลับไปไม่ทันท่วงที

เกริ่นอย่างนาน หนังสือเล่มนี้จะมีวิธีการประเมินที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว ส่งผลดีต่อผู้เรียน ซึ่งจะอธิบายด้วยภาพให้เราเข้าใจได้ง่ายมาก แล้วจะรู้ว่าการประเมินผู้เรียนนั้นไม่ได้มีแค่สอบอย่างเดียว เราสามารถสร้างสรรค์วิธีการได้อีกเยอะมาก ลองอ่านดูนะ :)

3. เด็กน้อยโตเข้าหาแสง

ผมได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ก่อนเข้ามาสอนในโรงเรียนแล้ว พอสอนไปได้ซักระยะเลยมีโอกาสหามาอ่าน เป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจมากทีเดียว

ป้ามล เป็นใคร?
ป้ามลเป็นคนที่ทำให้ 'บ้านกาญจนาภิเษก' เกิดขึ้น ในแต่ละปีมีเด็กที่ทำผิดกฎหมาย แล้วต้องไปอยู่ในสถานพินิจ หรือคุกเด็ก รวมๆแล้วหลายหมื่นคน ผมไม่รู้ว่าภายในนั้นเป็นอย่างไร มันคงเป็นสถานที่ที่เลวร้ายมาก จากที่ฟังคนที่เคยเข้าไปเล่าต่อมาอีกที บ้านกาญจนาภิเษก เป็นสถานพินิจเช่นเดียวกันเพียงแต่ไม่มีรั้วล้อมรอบ ไม่มีผู้คุม มีแต่พี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา

กว่าจะมาเป็น บ้านกาญจนาภิเษก ได้ ต้องผ่านอุปสรรคภาพเดิมๆของคนในสังคม ในหนังสือเล่มนี้จะเล่าถึงเรื่องราวในชีวิตของป้ามล ตั้งแต่เป็นครู โดนไล่ออกจากราชการ การเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ปากเกร็ด จนถึงบ้านกาญจนาภิเษก

ที่ผมชอบมากที่สุดในหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่ Success story แต่เป็นวิธีคิดของป้ามลในการมองเรื่องต่างๆ อย่างไม่มีกรอบของสังคมเข้ามาบดบัง ทำให้ป้ามลมองเห็นในสิ่งที่ควรจะเป็น และลงมือทำอย่างจริงจัง และวิธีคิดภาพระยะยาวของป้ามล ก็ชัดเจนในหนังสือเล่มนี้เช่นกัน ป้ามลมีวิธีการคืนเด็กสู่สังคม ซึ่งผ่านการคิดผลในระยะยาวอย่างถี่ถ้วนจริงๆ อยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ทุกคนจริงๆ

ป้ามลพูดใน TEDxBangkok ครั้งที่ผ่านมาด้วยนะ


4. ถามคือสอน (โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา)

เนื้อหาในนี้ดีงามกว่าสิ่งที่แสดงบนหน้าปกหลายเท่านัก ผมอยากให้ครูวิทยาศาสตร์ทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ตามชื่อหนังสือเลยคือ ใช้วิธีการถามเพื่อที่จะสอนผู้เรียน มองในอีกมุมหนึ่งก็คล้าย Socratic Method  ที่ทางมูลนิธิสุวสถิรคุณกำลังเผยแพร่และพัฒนาอยู่

ไม่ใช้แค่เฉพาะวิทยาศาสตร์ ผมว่าเราสามารถนำไปประยุกค์ใช้กับวิชาอื่นๆได้ ผมเคยลองใช้กับเด็กหรือเพื่อนบางคนอยู่บ้าง เพื่อที่จะอธิบายบางเรื่องที่เรามีประโยคสั้นๆ ที่สามารถบอกเขาไปได้เลย แต่จะไม่เกิดการเรียนรู้ หรือที่เราชอบพูดกันว่าทำแบบนี้มัน Teacher center ครูอยากสอนอะไรก็ป้อนเข้าไป ถามคือสอนนั้น เรามีเนื้อหาที่อยากจะสอนก็จริง แต่เราจะยิงคำถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ แก้ไขความเข้าใจ หรือนำไปสู่บทสรุปได้

เป็นวิธีการที่ครูผู้สอนต้องใจเย็นและผ่านการฝึกฝนมาพอสมควร ถึงจะทำได้อย่างลื้นไหล นักเรียนตอบมาเราสามารถยิงคำถามที่สอดคล้องกับสิ่งที่นักเรียนตอบได้เลย

สำหรับผมแล้วการถามคำถามแก่นหนึ่งอย่างของมัน คือการทำให้ผู้เรียนได้คิด เพียงเท่านี้ก็อาจจะเรียกว่าประสบความสำเร็จแล้วก็ได้

โหลดได้ที่: ถามคือสอน2.pdf

5. How Children Succeed

ต้องบอกเลยว่าช่วงแรกของการเข้ามาทำหน้าที่ครู ผมได้รับอิทธิพลของหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างมาก ในความเชื่อที่ว่าคุณลักษณะ (Character Strength) เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ความรู้

หนังสือเล่มนี้ผมเชื่อว่าจะเปิดโลกกว้างในหลายมุม ให้กับคนที่สนใจด้านการศึกษา มีมิติต่างๆที่ผมคิดถึง แต่ไม่เคยคาดคิดว่าจะมีคนทำมันอย่างจริงจัง และแพร่หลายเป็นอย่างมากในอเมริกา นั้นคือการให้คำปรึกษาผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็ก

หนังสือเล่มนี้เราจะได้เห็น KIPP School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เน้นด้านคุณลักษณะมาก มีการประเมินและพัฒนาคุณลักษณะกันอย่างจริงจัง และมันมีมูลค่ามาก

ผมขอนอกเรื่องนิดนึง ผมมองว่าไทยเราก็ไม่ต่างจากอเมริกาในหลายๆเรื่อง เช่นการศึกษาเรามีการสอบวัดระดับชาติ ที่ใช้งบประมาณมหาศาลไม่ต่างกัน แต่น้อยมากที่จะมีคนกล้าเข้าไปประเมินคุณลักษณะของคน และผมคิดว่าคนที่ทำเรื่องนี้ได้โคตรเจ๋ง และเป็นเรื่องที่มีมูลค่ามหาศาล ลองนึกภาพตามดูบริษัทจะจ้างคน แค่ข้อมูลเกรดเฉลี่ย ไม่ได้ช่วยให้เรารู้ว่าเราเลือกถูกคนหรือเปล่า แต่ถ้ามีตัวประเมิณคุณลักษณะออกมาจริง ผมเชื่อว่านายจ้างจะเลือกดูตัวนี้มากกว่าเกรดแน่นอน เราอยากรู้ว่าคนที่เราเลือกมาทำงานนั้น ซื่อสัตว์หรือเปล่า ทุ่มเทแค่ไหน ซึ่งการใช้เวลากับผู้สมัครไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วันไม่อาจจะตอบได้ หนังสือเล่มนี้อ่านยากนิดนึง เพราะออกจะเป็นงานวิจัย แต่ถ้าอ่านจบได้ ได้อะไรเยอะแน่

6. The Courage to Teach

"กล้าที่จะสอน" หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เกี่ยวกับ "กล้าที่จะถูกเกลียด" แต่อย่างใดแค่ชื่อไทยคล้ายๆกัน 555

ผมถูกหนังสือเล่มนี้ตบหน้าแรงๆอยู่หลายครั้ง ไม่ได้หมายถึงมีใครเอาหนังสือมาตบหน้าผม ถ้าเป็นแบบนั้นผมคงโกรธมากทีเดียว ความคิดของการเป็นครูใหม่เราจะมีชุดความเชื่อบางอย่างซึ่งไม่ถูกต้องซะทีเดียว

ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังอย่างไม่อาย ความเชื่อของเด็กน้อยคนหนึ่งเชื่อว่า ถ้าเราสามารถหาวิธีการสอนที่สุดยอดได้ การสอนคงจะเป็นเรื่องง่ายแน่ๆ แต่จริงๆแล้วมันไม่มีหลอกวิธีการสอนที่สุดยอด วิธีการสอนที่ครูหัวก้าวหน้าส่วนใหญ่มองว่าห่วยแตก สอนอยู่หน้าห้องพูดอยู่คนเดียว ก็สามารถเป็นวิธีการสอนที่สุดยอดได้ ถ้าครูที่ใช้เหมาะกับวิธีการนั้น ในหนังสือเล่มนี้จะพูดถึง อัตลักษณ์ของครู ไม่ได้ค้นหากันง่ายๆ บวกกับความจริงใจของผู้สอนด้วยแล้วนั้น คุณจะมีความสุขกับการสอนแน่นอน หนังสือเล่มนี้กล่าวไว้เช่นนั้น

ในอีกมิติหนึ่งที่ผมสัมผัสได้จากหนังสือเล่มนี้คือเรื่องความสมดุลเราไม่อาจจะคิดอย่างซ้ายไปหรือขวาไปได้ เราไม่อาจจะให้ความสำคัญกับการพูดคุย โดยไม่ให้ความสำคัญกับความเงียบได้อย่างเหมาะสม ลองไปอ่านดูผมคงจะไม่ได้เข้าใจในจุดนี้ดีพอที่จะอธิบาย ความสมดุลที่หนังสือเล่มนี้ต้องการจะมอบให้

7. การเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างไร

"การเรียนรู้ (Learning)" มันคืออะไรหนะ คุณสามารถอธิบายได้ไหม? ผมเชื่อว่ามันคงมีคำนิยามที่ให้ความพึงพอใจแก่คำถามนี้ แต่ถามว่าเราเข้าใจมันจริงหรือ

ผมจดลงไปในหนังสือเล่มนี้เยอะมาก แต่จำเนื้อหาในเล่มไม่ได้เลย หลายคนบอกว่าหนังสือเล่มนี้ดีมาก ผมเลยคิดว่าผมยังขาดประสบการณ์

ณ ตอนนี้การเป็นครูของผม มีความเป็นศิลป์อยู่บ้างในการคิดถึงการเรียนรู้ของนักเรียน ว่าควรจะผ่านจากกิจกรรมไหนดี ผมไม่อาจจะบอกได้ว่าทำไมถึงเลือกทำบางอย่างและไม่ทำบางอย่างได้ด้วยเหตุผลซะทีเดียว

หนังสือเล่มนี้อ่านแล้วควรอ่านอีก (บอกกับตัวผู้เขียนบล็อคเองด้วย) ประสบการณ์หลายๆครั้งก็จำเป็นต่อการอ่านหนังสือ
โหลดได้ที่: การเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างไร.pdf


8. ครูเพื่อศิษย์ สร้างห้องเรียนกลับทาง

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าการเป็นครู 1:50 นั้นทำให้ผมรู้สึกลำบากใจมาก เราไม่สามารถเข้าถึงเด็กทุกคนได้อย่างที่ควรจะเป็น ประกอบกันกับช่วงนั้นผมได้ยิน Flipped Classroom จากพี่คนหนึ่งใน Teach for Thailand เลยมีความคิดเล็กๆว่าจะลองทำดูบ้าง

หนังสือเล่มนี้ช่วยให้ความคิดเรื่องข้อจำกัดในการทำ Flipped Classroom ในหัวผมลดลงไปเยอะมาก แต่ก่อนอื่นคนที่ไม่เคยได้ยินคำนี้จะงงไปเสียก่อน ขอขยายความเพิ่มเติมนิดนึง

Flipped Classroom หรือห้องเรียนกลับทางคือการให้เอาเนื้อหาบทเรียนไปเป็นหน้าที่ของนักเรียนในการไปศึกษา และเรามาแลกเปลี่ยน ลงมือปฏิบัติรวมถึงทำการบ้านกันที่โรงเรียน ฟังดูดีมากสำหรับผมในช่วงแรกของการสอน แต่ปัจจุบันผมมีวิธีทางออกมากกว่านั้นในการแก้ไข ความ 1:50 แต่การรู้ไว้ไม่เสียเปล่าผมยังอยากนำมาใช้จริงจังดูซักครั้งนึง

หนังสือเล่มนี้จะตอบคำถามพวก เด็กไม่มี Smartphone ทำยังไง ครูจะต้องลงทุนลงแรงอัดคลิปกันจริงจังเลยหรือเปล่า คำตอบของหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า Flipped Classroom มันง่ายกว่าที่ผมคิดไว้เยอะมาก

โหลดได้ที่: สร้างห้องเรียนกลับทาง.pdf

9. Creative Schools

ผมชอบประโยคหนึ่งในหนังสือเล่มนี้มากนั้นคือ "การปฏิวัติต้องเกิดจากระดับล่างสุดการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นในห้องของคณะกรรมาธิการผู้มีหน้าที่ออกกฎหมายหรือในวาทะของนักการเมือง หากแต่การศึกษาคือสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เรียนและผู้สอนในโรงเรียน" อยู่ในหน้าที่ 34 ไปเปิดดูได้ผมไม่ได้ไมเมขึ้นมาเอง :b

แค่เปิดเรื่องในหนังสือมมาผมก็อินสุดๆแล้ว เขาเล่าถึงประวัติที่มาว่าทำไมเราจึงมีโรงเรียนเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่บอกให้ลอกไปหาซื้อมาอ่านเอง

และพูดถึงหลายเรื่องที่เปิดโลกผมมาก ขอยกอีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมคิดว่าถ้าครูละลึกไว้เสมอเราจะไม่ทุกข์ใจกับการสอนแล้วเด็กจำอะไรไม่ได้

คุณขี่ม้าตัวเมื่อวานไม่ได้หลอก และคุณขี่สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เช่นกัน เราไม่อาจคาดหวังว่าสิ่งที่เรียนรู้เมื่อวานจะสามารถนำมาประยุกต์ได้ทุกครั้ง จงอยู่กับปัจจุบัน


10. 21st Century Skills Rethink How Students Learn

เล่มนี้ผมไม่ได้ชอบมันมาก แต่ขอยกไว้อันดับที่ 10 นิดนึงเพราะมันมีเรื่องราวกับผมเล็กน้อย

ตอนอยู่ปี 3 ก็ชอบซื้อหนังสือมากองในบ้าน อ่านบ้างไม่ได้อ่านบ้าง และเจ้านี้ก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่ผมซื้อมาแล้วอ่านได้สามหน้าแล้วเควี้ยงทิ้ง เพราะผมเข้าใจผิดว่ามันเป็นหนังสือพัฒนาตนเอง แต่เปล่ามันเป็นหนังสือสำหรับนักการศึกษาต่างหาก

หนังสือเล่มนี้โคตรกว้าง ต้องเลือกอ่านนิดนึงบางบทไม่ได้มีความเกี่ยวกับครูในห้องเรียนเลยเช่นเรื่องการออกแบบโครงสร้างโรงเรียน - -* แต่บางเรื่องก็ดีมากทำให้ผมได้รู้จักนักคิดด้านการศึกษาหลายๆคน เช่น เฮาเวิร์ด การ์ดเนอร์ ผู้คิดทฤษฎีพหุปัญญา จำแนกว่าคนมีความฉลาดหลายมิติ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมไม่อินกับ 21st Century Skills เลยเพราะผมได้อ่านหนังสือเล่มบน Creative Schools เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พูดถึงในการศึกษาบ่อยมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ผมมองว่าคนที่คิดก็คือระบบอุตสาหกรรม ผู้ซึ่งทำลายระบบการศึกษา ความคิดผมอาจจะเปลี่ยนไปอีกก็ได้ เฉพาะฉะนั้นขอที่รู้แล้วก็ปล่อยวางในสิ่งที่ผมได้กล่าวไว้ด้วยละกันนะครับ

โหลดได้ที่: 21st Century Skills ทักษะแห่งอนาคต การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21

จบแล้วสำหรับมหากาพย์การแนะนำหนังสือภาค 1 (หวังว่าจะมีภาคต่อๆไป) มีหลายเล่มที่ผมยังไม่ได้แนะนำเพราะกำลังอ่านอยู่ ไม่ก็ลืมเนื้อหาไปแล้ว ยังไงซะก็ขอขอบคุณสำหรับใครก็ตามที่ทนอ่าน บทความที่ออกจะใช้คำบ้าๆบอๆไปหน่อย มีข้อคิดเห็นอย่างไรมาแลกเปลี่ยนกันได้ ผมจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง...บุญรักษา ขอให้ครูผ่านอุปสรรคในโรงเรียนไปให้ได้

มีหลายเล่มให้โหลดฟรีอีกในเวปของมูลนิธิสยามกัมมาจล ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
https://www.scbfoundation.com/publishing.php?project_id=292

Saturday, October 22, 2016

Smart-i Camp: สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นพี่ค่าย

ขอขอบคุณทีมงานระดับคุณภาพปริมาณคับแก้ว สำหรับกิจกรรมและไหวพริบในการแก้ปัญหา
ทีม Staff ผู้จัดงาน: ครูแก๊ป พี่กุ้ง พี่เอส ครูทิพย์ ครูอร แนน อองฟอง พี่ไก่โต้ง พี่เป้ว
ทีมพี่เลี้ยง: ดิว พลอย เปอร์ มะปรางค์ เติ้ง พี่อาร์ม พี่ข้าวปั้น พี่อ้อน พี่หนึ่ง พี่ซุ๊ป

ต้องขอขอบคุณพี่เอกที่แชร์ข้อความรับสมัครหาพี่เลี้ยงลงมาในกลุ่มของ Teach for Thailand จึงได้ติดต่อเข้ามาคัดเลือกเป็นพี่เลี้ยงในค่าย ด้วยความที่ผมกำลังศึกษา Growth Mindset อยู่เพื่อไปปรับการสอนในอีกหนึ่งปีสุดท้าย เลยตัดสินใจพาตัวเองเข้ามาอยู่ในค่าย Smart-i Camp

เราเป็นทีมที่ดีมาก มีปัญหาอะไรก็ไม่เคยเก็บไว้ พูดกันตรงนั้นเลย บางครั้งก็ด่ากันบ้าง แต่ทุกคนรู้ว่าเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด ถึงจะบ่นกิจกรรมแค่ไหน ท้ายวันก็บอกชอบกิจกรรมนั้นทุกครั้งไป ในบนความนี้จะเล่าทั้งสิ่งดีและไม่ดี ความสับสน ความสุข ความไม่เข้าใจกัน จึงอยากจะขอบอกไว้ก่อนว่า ทุกปัญหา ทุกความคับค่องใจที่เกิดขึ้น ได้คลายและกลายเป็นสิ่งที่ดีงานต่อไป

Smart-i Camp

เกริ่นคราวๆก่อน ค่าย Smart-i Camp เป็นค่ายที่เกิดจากการเลงเห็นว่า เรื่อง Mindset เป็นเรื่องที่สำคัญและควรปลูกฝังให้กับเด็กๆ ค่ายนี้จึงเป็นค่ายที่เน้นการพัฒนาใน 3 ด้านได้แก่ Self-esteem, Growth Mindset, Parents child connection (จะกลับมาคุยกันในสามประเด็นอีกทีในภายหลัง) ในค่ายจะมีเด็กวัยตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6

Day 1: Team Day (I am important as individual)

ในค่ายนี้พี่เลี้ยงและทีมงานมีกฎอันหน้าสะพรึงกลัวมากนั้นคือใครมาสาย เราจะปรับเงินท่าน และไม่ได้ประธรรมดา เราปรับแบบทวีคูณ 20 บาท, 40 บาท, 80 บาท, 160 บาท, .... ไปเรื่อยๆ ทำให้ทุกคนพร้อมใจกันมาตรงเวลากันอย่างต่อเนื่อง

ในวันที่ 1 นี้เป็นการละลายพฤติกรรมของเด็กๆ สร้างทีมสี(สีแดง สีฟ้า สีเขียว สีส้ม) และในแต่ละทีมจะมี 3 กลุ่มย่อย พี่เลี้ยง 1 คนจะดูแล 1 กลุ่มซึ่งมีเด็ก 8-9 คน

ในรูปเป็นการทำ Standing Ovation ซึ่งจะเป็นหัวใจหลักของค่ายตลอดสิบวันนี้ 

การทำ Standing Ovation เป็นการสร้าง Self-esteem ในตัวของเด็กแต่ละคน 

ถามว่าทำไมค่ายนี้เลือกที่จะให้ความสำคัญของเรื่องนี้ นั้นเพราะในยุคสมัยปัจจุบันที่สังคมออนไลท์ เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเด็กมาก การที่เด็กขาด Self-esteem จะทำให้ พวกเขาถูกกลืนเข้าไปในสังคม ซึ่งเราจะพบว่าคนรุ่นใหม่หลายคนหาตัวเองไม่เจอ เรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ

ในวันนี้จะมีกิจกรรมง่ายๆ เพื่อใช้สร้างความเป็นทีม และสังเกตแววในตัวเด็กแต่ละคน กิจกรรมนั้นคือการเก็บเก้าอี้และยกเก้าอี้มาวาง โดยทำเวลาให้ดีที่สุด ผมชอบกิจกรรมนี้มาก

Day 2: Esprit de Corps (I am important as a team what I am good)


ช่วงเช้ามีการแจก Badge เป็นเหรียญติดหมวก เพื่อให้รางวัลในมิติต่างๆ เช่น ความรับผิดชอบ ความกล้า ความเสียสละ ความเป็นผู้นำ พร้อมกับสะท้อนให้เด็กเห็นว่าทำไมพวกเขาถึงได้เหรียญเหล่านั้น สำหรับผมเห็นว่า 10 วันมันสั้นไปที่จะเห็นผล แต่ที่แน่ๆ คือเด็กดีใจกลับไปเล่าให้คุณพ่อ คุณแม่ฟัง บางคนก็เอาผ้ามาเช็ดเหมือนของมีค่าชิ้นหนึ่งของตัวเอง

กิจกรรมในวันที่สองนี้เป็นกิจกรรมที่เน้นการสร้าง Team work ในแต่ละกลุ่มย่อย ขอบอกว่าวันนี้ผมก็ทำไม่สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ เด็กวิ่งเล่น หนีเข้าไปใต้โต๊ะ ต่างคนต่างทำ เหลือคนทำจริงๆไม่กี่คน พอมานึกย้อนกลับไปแล้ว เด็กหลายคนที่วิ่งเล่นในวันนั้น ก็ดีขึ้นมากในวันสุดท้าย

ในวันนี้พี่เลี้ยงมีหน้าที่ Coach ให้เด็กทำงานร่วมกันเป็นทีม ให้กำลังใจ ตั้งคำถามต่างๆนาๆ เพื่อให้เด็กเข้าใจกิจกรรม และตกผลึก

กิจกรรมแรก เป้าหมายคือการเอาหลอดลงมา โดยมีเงื่อนไขว่าทุกคนในทีม จะต้องเอานิ้วชี้สองข้างแตะด้านล่างของหลอด เป็นกิจกรรมของผู้ใหญ่ เพื่อดูว่าใครมีภาวะผู้นำ ใครมีภาวะผู้ตาม เมื่ออยู่ในทีม

ค่อนข้างเป็นความกังวลของผู้จัดกิจกรรมเอง ซึ่งผมก็ขอชื่นชมที่กล้านำกิจกรรมนี้มาจัดให้กับเด็กเล็กๆ

ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าเราสามารถทำได้ โดยวางกติกาไว้หลวมๆ นิ้วหลุดบ้างก็ไม่เป็นไร

[เด็กๆกลุ่มอื่นดูจริงจังกับการเล่นเกมนี้มาก ในขณะที่ผมกำลังวิ่งไล่จับเด็กอยู่ 555 แต่ก็ได้ใช้เวลาวางระบบกลุ่มเสียใหม่ หาเด็กมาเป็นหัวหน้าช่วยงานของเรา ทำให้พอลดปัญหาไปได้บ้าง]

กิจกรรมที่สอง เป็นการเล่นสลาฟตัวเลข โดยกติกามีอยู่ว่า
1) เลขมากจะชนะเลขน้อย
2) ตัวเลขที่ยกเว้น  1 ชนะ 9, 2 ชนะ 8, 3 ชนะ 7

ตอนแรกผมก็งงๆกติกานิดหน่อย น่าจะมีเป็นกระดานแสดงลำดับการชนะไว้ และสาธิตบ่อยๆ

พูดถึงสิ่งที่เกมนี้ให้กับเด็กๆนั้นคือ การวางแผน การจดบันทึก เพราะพวกเขาจะต้องดูว่าแต่ละกลุ่มออกอะไรมาแล้วบ้าง เพื่อที่จะได้ออกเลขมาดักได้

[ในขณะที่กลุ่มอื่นสู้กับอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่นั้น เด็กผมก็วิ่งเล่นอีกตามเคยจ้า = = เลยบอกหัวหน้าในกลุ่มว่าอยากออกอะไร ตามสบายเต็มที่เลย แต่ให้ทุกคนได้ออกหมดละกัน]

กิจกรรมที่สาม ต่อตึกสูงด้วยตัวต่อเจงก้า กติกาไม่มีอะไรมาก ให้ตั้งเจงกาแนวตั้งให้ได้สูงถึง 15 ชั้น โดยให้ต่อแถว แล้วออกมาทีละคน คนที่ออกมาจะหยิบแล้วตั้งได้แค่ 1 อันเท่านั้น

กิจกรรมนี้จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า กลุ่มไหนมีความเป็นทีม กลุ่มไหนไม่ หากต่างคนต่างคิด ตอนออกมาจะวางกันสะเปะสะปะมากๆ

กิจกรรมนี้เล่นสองรอบถ้ารอบสองมีวิธีการทำให้เด็กเห็นพลังทีมได้ เด็กๆจะได้เรียนรู้และเข้าใจถึงการทำงานเป็นทีมได้ดีมาก

สิ่งที่ผม Feedback กลับไปในส่วนตลอดวันนี้คือส่วนหัวและท้ายของกิจกรรม นั้นคือการใช้ CFU (Check for understanding) กับนักเรียนบ่อยๆ และควรมีเวลาให้เด็กได้ย่อยหรือทบทวนสิ่งที่ได้ทำไป จะทำให้กิจกรรมในวันนี้ประสบความสำเร็จมากขึ้นไปอีก


ช่วงบ่ายเป็นการเขียน Story board เพื่อถ่ายทำ Stop motion ในวันถัดไป เด็กเล็กๆจะไม่คิดอะไรซับซ้อนมาก ทำให้เริ่มได้ไวกว่าเด็กโตอย่างเห็นได้ชัด

Day 3 Adventure day (I am responsible for myself)

กิจกรรมในวันนี้ผมชอบมากจริงอะไรจริง เพราะเด็ก Active และเกิดการเรียนรู้เยอะมาก กิจกรรมที่ให้เด็กทำมีอยู่ประมาณ 9 อย่างด้วยกัน โดยแบ่งเป็นในเมือง(โรงเรียน) กับในป่า เด็กๆตื่นเต้นและเฝ้ารอวันนี้เป็นอย่างมาก

กิจกรรมจับโปเกมอน กิจกรรมนี้ถือเป็นเกมล่อเด็กจริงๆ คือให้ออกไปตามล่าโปเกมอนจริงๆ โดยทีมงานจะนำโปเกม่อนไปซ่อนตามที่ต่างๆ

ถือว่าทีมงานทำการบ้านมีดีใช้ได้เลย
กิจกรรมปีนต้นไม้ ถือเป็นจุดขายของค่ายนี้ ตอนท้ายวันเราก็กลับมาคุยกันว่า ต้นไม้ที่เลือกมีความโค้ง และขั้นไม้แต่ละอันอยู่ห่างกันมากเกินไป ทำให้เด็กหลายคนไม่สามารถผ่านขึ้นไปถึงชั้นแรกได้

ผมมีเด็กอยู่คนหนึ่งชื่อ ข้าวหอม(ไม่ใช้เด็กผู้หญิงในรูปนะครับ) เป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่เธอสามารถปีนขึ้นไปถึงชั้นแรกและทำ Standing ovation พร้อมประกาศละทิ้งนิสัยไม่ดี เป็นเรื่องราวเล็กๆที่สอนให้รู้ว่า มันอยู่ที่ใจล้วนๆ

ถือเป็นกิจกรรมที่เด็กๆจะมีโอกาสได้เอาชนะความกล้ว และก้าวข้ามอีกจำกัดที่ตัวเองคิดว่าจะสามารถทำได้ ผมไม่ได้ตื่นเต้นกับการที่มีเด็กปีกขึ้นไปได้ถึงชั้นสูงสุด แต่การที่เด็กสามารถปีนไปได้ไกลกว่าที่เขาคิดไว้ ทำไปทั้งๆที่กลัวนั้นดูเป็นสิ่งน่าประทับใจยิ่งกว่า

กิจกรรมต่อลังStack ออกจะคล้ายคลึงกับการปีนต้นไม้ ถ้าเปรียบเทียบกันสองอย่างนี้ Stack จะค่อยๆให้เราเพิ่มระดับความสูงทีละน้อย ถ้าไม่คิดถึงเรื่องความปลอดภัย เราสามารถทำให้สูงขึ้นได้เรื่อยๆ

ถ้าจะเสริมสร้าง Growth Mindset ลองให้เด็กตั้งเป้าหมายและให้เขาลองทำดู ถ้าถึงเป้าหมายของตัวเองแล้ว เขาจะตั้งเป้าหมายสูงขึ้นหรือไม่ หรือถ้าไม่ถึงเป้าหมายถ้าปีนรอบต่อไปเขาจะตั้งเป้าหมายต่ำลงหรือไม่

กิจกรรมข้างๆที่เหลือจะเป็นการยิงธนู สำหรับเด็กบางคนก็ถือว่าท้าทาย ด้วยว่าต้องออกแรง และจับให้ถูกต้อง









กิจกรรม Lift it! จะมีโจทย์ให้เด็กสร้างของให้ตรงกับรูปในเวลาที่กำหนด โดยจะมีตะขอติดไว้ที่หน้าผาก บางรอบ Advance มากใช้คนสองคนกับตะขอหนึ่งอัน ต้องประสานกันดีมากทีเดียว

ผมชอบกิจกรรม Board game ในนี้มาก ผมวิเคราะห์ว่ามันเป็นการฝึกสมองทั้งสองด้าน ต้องจินตนาการและใช้ตรรกะว่าเราอะไรวางก่อนไปพร้อมๆกัน


กิจกรรมมนุษย์ถ้ำ เป็นการฝึกสมองส่วนการใช้ภาษา เด็กๆจะได้รับโจทย์มาว่าต้องสร้างอะไร โดยจะมีท่าทางในการบอกเพื่อนว่าจะสนใจของชึ้นไหน และใช้เสียงในการบอกว่าจะต้องทำอะไรกันของชิ้นนั้น

ถ้ามีเวลานานๆ ผมว่าฝึกเด็กได้เยอะเลย ใช้เป็นของเล่นนอกเวลาที่ดีมาก ในค่ายมีเด็กคนหนึ่งที่มีแววด้านภาษามาก สามารถใช้คำสั่งได้คล้องแคล้ว

นอกจากนี้มีกิจกรรมปีนเขาเอเวอเรส เพื่อให้นักเรียนเกิดการวางแผน โดยจะมีแผ่นไวนิล ระบุว่าแต่ละชั้นของการปีนเขาจะต้องใช้ทรัพยากรเท่าไหร่ เด็กต้องวางแผนเผื่อการเดินทางกลับลงมาด้วย

อีกกิจกรรมเป็นกิจกรรมเอาชีวิตรอดบนดวงจันทร์ ให้ทำการจัดลำดับความสำคัญของอุปกรณ์ทั้ง 20 ชิ้นที่เอาขึ้นไปว่าอะไรสำคัญมาก อะไรสำคัญน้อย และจะให้คะแนนตามความใกล้เคียงกับเฉลยมากที่สุด รอบแรกทำเดี่ยว รอบสองทำเป็นกลุ่ม จุดมุ่งหมายคือการหาข้อตกลงร่วมกันภายในกลุ่ม สิ่งที่ดีมากสำหรับกิจกรรมนี้คือ ได้เห็นความเข้าใจของเด็ก และความรู้ของแต่ละคนได้เอามาแชร์กัน

กิจกรรมในวันนี้ทุกชิ้นดีหมด ถ้าดึงไปใช้ น่าจะเพิ่มมีเวลาให้ได้เล่นแต่ละอย่างมากขึ้น เด็กๆจะได้พัฒนาทักษะเยอะมากเลย

ในวันนี้พี่เอสสอนเรื่อง 5 Successes ให้ทุกคนกลับไปทำทุกวัน เขียนความสำเร็จในแต่ละวัน ไม่ต้องเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ เช่น ขอบคุณวันนี้อาหารอร่อย ขอบคุณที่กลับบ้านอย่างปลอดภัย เป็นต้น

Day 4: Shoot to film (I am responsible for team



ดูผลงานของนักเรียนได้ตาม link นี้ Stop motion - Smart-i Camp

จากเมื่อวานที่นักเรียนทำ Storyboard วันนี้เป็นวันที่พวกเขาจะได้เล่นในตัวละครที่พวกเขาอยากเป็น การถ่ายทำที่พี่ทีมงานดูง่ายมาก เขายิงรัวๆแล้วนำมาตัดต่อเป็นเรื่องราว ทำได้ไวมาก

Day 5: English Day Camp (I do everything at 100%)

เป็นการเรียนภาษาอังกฤษที่ผมรู้สึกว่า เขาเล่นใหญ่มากกกกกกกก คิดว่าถ้าตัวเองเจอภาษาอังกฤษแบบนี้คงรักภาษาอังกฤษไปเลย :)

 ห้องนิทานเรื่อง Cinderella

เข้ามาครูหน้าตาจีนๆ ตัวใหญ่ ใจดีก็ให้เด็กๆมานั่งแล้วก็เปิดหนังสือภาพเรื่อง Cinderella แล้วก็เล่าเรื่องประกอบ Emotion ตกใจ ดีใจ

ครูก็จับเด็กมาแสดง แต่งตัวกันแบบจัดเต็มมากจนไม่คิดว่าจะเป็นคาบเรียนไม่ถึงชั่วโมง เด็กแต่ละคนก็จะได้อ่านบท และขึ้นมาเล่นบนเวที

เด็กที่เล่นเป็น Cinderella ก็เขินๆเวลาเล่นกับเจ้าชายดูน่ารักดี

เป็นวิธีการเรียนรู้ที่วิเศษณ์มาก ถ้ามองในมุมระดับการเรียนรู้ผมให้เกือบสูงสุดเลย เป็นห้องเรียนภาษาอังกฤษที่มีชีวิตมาก ถ้านักเรียนที่โรงเรียนได้เรียนแบบนี้คงจะดีไม่น้อย

ความเล่นใหญ่ของครูภาษาอังกฤษ คงจะตราตรึงให้ผมรู้สึกถึงความเป็นไปได้มากมายในการสอนคณิตศาสตร์ เมื่อเทอมใหม่เริ่มต้นขึ้น

อีกห้องหนึ่งเป็นนิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดง ไม่ได้เข้าไปดู เลยนำแต่เพียงภาพมาประกอบให้ดู แต่จะไม่ได้บรรยายอะไรในห้องนี้


อีกห้องหนึ่งที่ผมรู้สึกชอบมาก คือห้องเรียนศัพท์เกี่ยวกับเสื้อผ้า ซึ่งตรงกับแนวคิดที่ผมอยากจะใช้สอนคณิตศาสตร์ในห้องเรียนอยู่พอดี

ช่วงต้นคาบคุณครูติดรูปเครื่องแต่งกายที่มีคำศัพท์ประกอบ เต็มกระดานเลยใช้เวลาไม่นานมาก ก็เข้าสู่ช่วงกิจกรรม โดยครูแบ่งเป็นสองทีมยืนเรียงแถวกัน เบื้องหน้ามีกองเสื้อผ้าให้นักเรียนตามหาตามคำบอกของครู เมื่อหยิบได้แล้วต้องไปตบมือครู(ครูก็จะไปแอบซ้อนหรือวิ่งหนี 555) ใครทำเสร็จก่อนจึงจะได้คะแนน ผมชอบกิจกรรมช่วงนี้มากเพราะทำให้เด็กได้เห็นของจริง(Concrete)

กิจกรรมที่สองในห้องเรียนนี้จะเป็นการเล่น Bingo โดยในทั้ง 16 ช่องจะมีรูปภาพของเครื่องแต่งกายอยู่ ซึ่งเด็กๆจะต้องตั้งใจฟังให้ดีเพื่อที่จะวางให้ถูกและบอก Bingo กิจกรรมนี้ผมถือเป็นขั้นที่สอง นำภาพของจริงในหัวของเด็กมาสู่รูปภาพ (Pictorial) เด็กดู Focus และสนุกกันมาก จะเห็นได้ว่าเขาเขียนคำศัพท์น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นของจริงกับรูปภาพ ซึ่งผมเชื่อการเรียนรู้แบบนี้มาก

ช่วงบ่ายผมก็ได้ครูในห้องเสื้อผ้าเป็นคนนำกลุ่มไปศึกษาคำศัพท์ในธรรมชาติ ตรงป่าของโรงเรียน พี่แกก็ใช้เทคนิคเดิม บอกสิ่งที่ให้ตามหาแล้วนำไปให้พี่เลี้ยงดู ใครทำได้ก่อนก็จะได้คำแนนเป็นเหรียญ(Token) ซึ่งเป็นระบบเงินในค่าย

วันนี้มีความสุขมากกับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากครูภาษาอังกฤษ

Day 6: Field Trip Kidzania (I do everything at 100%)


อีกหนึ่งวันที่เด็กๆรอคอยคือการได้เดินทางไป Kidzania (เด็กที่โรงเรียนผมก็บ่นอยากไปนักหนา) ขอ บอกกันตามตรงว่า เด็กในค่ายนี้หลายคนก็เคยเดินทางไปแล้ว บางคนก็ไม่เคยไปแต่มีส่วนน้อย

ภายใน Kidzania จะมีกิจกรรมที่ทำแล้วได้เงินและกิจกรรมที่เสียเงิน ซึ่งกิจกรรมที่เสียเงินส่วนใหญ่เป็นการทำอาหาร แต่งหน้า ใช้บริการซะส่วนใหญ่ เราก็จะได้เห็นแนวคิดในการใช้เงินของเด็กๆ บางคนก็ทำงานลูกเดียวเลยไม่ใช้เงินเลย บางคนก็ใช้เงินจนหมดตัว กลุ่มหาเงินก็จะไปขายประกันกันสองสามรอบ กลุ่มใช้เงินก็จะวิ่งซื้อของจากคนขายประกัน 555+

สถานที่ อุปกรณ์ทุกอย่างถือว่าพร้อมและดีมาก ถ้าผมเป็นเด็กคงจะรู้สึกอินกับสิ่งที่มีใน Kidzania ถ้าพนักงานบิวท์เด็กมากกว่านี้จะเป็นอะไรที่ดีงามมาก (มุมมองของเปอร์)

หากเราเป็นผู้ปกครองพาเด็กไปควรจะต้องวางแผนให้ดี เพื่อให้คุ้มค่าควรให้เด็กเล่นได้อย่างน้อย 7-8 อาชีพ ซึ่งวันที่ไปผมก็ยอมรับว่าตัวเองยังบิวท์และ Coach เด็กไม่ดีพอบางคนเล่นได้น้อยเกินไป

ผมชอบ Idea ของ Kidzania ที่โคกับบริษัทต่างๆที่มีในประเทศไทย ซึ่งผมเดาว่าบางบริษัทเองก็ต้องเสียเงินเ พื่อเข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของ Kidzania

เทอมหน้าคงมีได้พาเด็กไป Field Trip กันซักที่สองที่แน่นอน แหล่งเรียนรู้ในประเทศไทยมีเยอะมาก เป็นหน้าที่ของเราที่จะเลือกให้เหมาะสมกับตัวเด็ก

Day 7: STEM (I am Proud to be me)

Science Technology Engineering and Mathematical (STEM) กิจกรรมในวันนี้จะแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มเด็กเล้กจะประกอบรถ และกลุ่มเด็กโตจะทำรางรถไฟเหาะ โดยธรรมชาติของ STEM แล้วเด็กๆจะเข้าใจหลักวิทยาศาสตร์ผ่านการลงมือทำ และมีคำถามของครูช่วยชี้ประเด็นเพื่อคบคิด

กลุ่มเด็กเล็กจะทำการประกอบรถ ครูที่มาสอนเริ่มต้นจากการให้นักเรียนประกอบรถตามแบบที่ให้มา ซึ่งผมพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะให้เด็กต่อตามรูป Assembly ที่มีความซับซ้อน แต่ถ้าค่อยๆไล่จากรูปง่ายไปยากอาจจะช่วยได้ แต่คงต้องใช้เวลานิดนึง

ในช่วงบ่ายก็จะปล่อยให้เด็กๆประกอบรถคนละคัน พอดีผมไม่ได้อยู่ด้วยเลยถามๆเพื่อนเอา พอจะทราบว่าในกิจกรรมนี้ เราจะสามารถสอนเรื่องจุดศูนย์ถ่วง เรื่องแรงเสียดทาน ได้ เช่นเด็กทำรถแล้วไปได้ไม่ไกล หรือล้มเมื่อลงมาจากทางลาดเอียง ก็ตั้งคำถามสือเสาะเด็กไปเรื่อยๆ จนเขาเข้าใจได้ด้วยตนเอง

ส่วนเด็กโตจะประกอบ Roller Coaster โดยเน้นให้ได้ระยะไกลสุดและใช้เวลานานที่สุดในการไปถึง อย่างในรูปเด็กๆจงใจประกอบเส้นทางให้ราบมากที่สุดเพื่อลดความเร็วและลดการสูญเสียพลังงานได้เอง โดยที่ไม้รู้จักหลักการของกฎอนุรักษ์พลังงาน

มีกลุ่มหนึ่งผมเข้าไปโค้ช แล้วพบว่าตอนไปถึงเด็กๆต่อกันมั่วมาก ทดลองหลายครั้งก็พบว่าลูกบอลตกลางทุกครั้งไป ผมจึงตั้งคำถามสอนเด็กๆไปเรื่อยๆ

ผม: เด็กๆคิดว่าทำไมลูกบอลถึงตกราง?
เด็ก: เพราะว่าลูกบอลมันวิ่งเร็วครับพี่
ผม: แล้วคิดว่าอะไรทำให้ลูกบอลวิ่งเร็ว
เด็กตอบคำถามนี้ไม่ได้ ผมจึงสาธิตด้วยลูกบอลกับรางเอียงมากกับรางเอียงน้อย (ไม่ได้พูดถึงคำว่าเอียง)
เด็ก: อ้อเพราะมันเอียงมากกว่าลูกบอลจึงวิ่งไวกว่า
ผม: แล้วอะไรทำให้รางของเราถึงเอียง...

สำหรับผมหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการสอน STEM คือเรื่องคำถาม คำถามดีๆช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น

ในระหว่างวัน Staff ทุกคนมีการเขียนจดหมาย Thank you พอกลับมาอ่านแล้วก็ได้เห็นมุมของตัวเองที่บางอย่างเราก็มองไม่เห็น

Day 8: Sport day (I am Proud to be me)


เป็นวันที่เด็กๆได้เล่นสนุกอย่างเต็มที่ช่วงเช้ามีกิจกรรมกีฬา Chairball และ Football ฉบับดัดแปลงให้เด็กๆทุกคนได้มีส่วนร่วม

ในตอนบ่ายมีกิจกรรม Water fight เล่นปืนฉีดน้ำและลูกโป้งน้ำสู้กับทีมพี่เลี้ยง (เพื่อสร้างความเป็นทีมอันหนึ่งอันเดียวกัน) ถ้านับความสนุกในวันนี้ให้เต็มร้อย แต่สิ่งที่ต้องการจะสอนเด็ก ผมว่าเรายังทำได้ไม่ค่อยดีนัก

Day 9: Dance Step up (All Together)

วันที่ 9 เตรียมตัวแสดงเต้นให้ผู้ปกครองของเด็กๆดู วันนี้ Staff เล่นบทโหดกับเด็ก

ที่ผ่านมาวินัยเราขาดกันไปเยอะ ทำให้วันนี้เด็กวิ่งเล่นกัน บางคนไปดึงผ้าม่าน ไปนั่งบนเก้าอี้สูงบ้าง วุ่นวายทีเดียว

ครูอรกับครูปั้น เลยจัดหนักระบบ SOTUS จนเด็กนิ่งไปเลย 555

ช่วงท้ายวันมีการเขียน Vision Board เพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในค่าย เป็นการขอบคุณเพื่อนๆในค่าย และตั้งเป้าหมายเล็กๆที่จะทำเพื่อพ่อแม่ของตัวเอง

Day 10 Closing Ceremony (All Together)

วันสุดท้ายช่วงเช้าเป็นการทำ Vision Board ต่อและมีการการประมูลของขวัญกลับบ้านในช่วงบ่าย

เด็กบางส่วนขึ้นมาเล่า Vision Board พี่เลี้ยงมาเล่าเรื่องราวความประทับใจที่มีในค่าย และจบด้วยการแสดงของเด็กๆ

สำหรับพี่เลี้ยงแล้วมัน ให้ความรู้สึกเหมือนพ่อแม่ที่เฝ้าดูลูกของตัวเองแสดงบนเวที เป็นความรู้สึกตื้นตันที่ดีเหลือเกิน

"ขอบคุณตัวเองที่พาตัวเองมาอยู่ในค่ายแห่งนี้"

Friday, October 7, 2016

Observe TFT Fellow cohort III: เรียนรู้จากการสังเกต


"ลองมองลงไปในลึกลงในคนอื่น สิ่งที่เราเห็นนั้นคือตัวเอง"

80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในความมืดบนท้องถนน ที่มีสายลมเย็นเป็นเพื่อน เป็นช่วงเวลาที่ผมได้ทบทวนกับตัวเองถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ตลอดสามวันของการสังเกตการสอนเตรียมความพร้อม ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษารุ่นที่ 3

1 วันนั้น เป็นความตั้งใจแรกที่ผมจะใช้เวลาว่างที่มีอยู่อย่างน้อยนิด เขาไปเพียงแค่สังเกตการสอน แต่ผลทีี่ตามมาทำให้เกิดการสะท้อนกับตัวเอง และเกิดการเรียนรู้หลายๆอย่างเกิดขึ้น ผสมกับความเป็นห่วงเล็กๆ ผมจึงจัดการเคลียร์คิวทั้งหมดเพื่อให้มีเวลาอยู่เพิ่ม

3 วันที่ผ่านมา การมาเป็น LDO (Learning Development Officer) ทำให้ต้องคิดเยอะมาก ซึ่งโดยธรรมชาติเป็นคนที่คิดเยอะอยู่แล้ว อะไรคือปัจจัยหลักที่จะเปลี่ยนห้องเรียนนี้ได้? ทำไมนักเรียนคนนั้นถึงสนใจเรียนและอยู่ดีๆกลับไม่สนใจไปอย่างนั้น? Fellow ติดปัญหาความคิดอะไรอยู่หรือเปล่า? ถ้าเป็นตัวเราเองเราจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้?

60 ชั่วโมงของการสอนในแต่ละคาบ ไม่เคยน่าเบื่อเลย เพราะคำถามเกิดขึ้นเต็มไปหมด หลายครั้งที่เราเห็น Fellow สอน เราก็มักจะนึกย้อนถึงตัวเอง ความล้มเหลวบ้าง ความสำเร็จบ้าง หรือแม้กระทั้งความเชื่อบางอย่างที่เราหลงลืมไป เวลาที่เราเป็นบุคคลที่สามของห้องเรียน ผมตกตะกอนหลายอย่างมาก เหมือนกลับเข้าใจไปเองว่า ความล้มเหลวของตัวเองที่ผ่านมานั้นเป็นเพราะอะไร

"ทุกอย่างมีเหตุมีผล เราเพียงแค่ต้องเข้าให้ถึงแก่นของมัน"


Singapore Math

เป็นความบ้าและความสงสัยส่วนตัวว่า ธรรมชาติของการเรียนรู้คนเรานั้นเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าเราล้มเหลวเพราะเราไม่รู้อะไรบางอย่าง ความเชื่อต่างๆในการสอนคณิตศาสตร์ ค่อยๆเปลี่ยนไปตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ถูกลบบ้าง ถูกเติมบ้าง...

ผมเชื่อว่านักเรียนจะเก่งในวิชานี้ได้นักเรียนจะต้องทำโจทย์เยอะๆ
ผมเชื่อว่าถ้านักเรียนรู้สึกว่าทำได้ นักเรียนจะทำ
ผมเชื่อว่านักเรียนจะรู้สึกว่าคณิตศาสตร์ไม่ยาก ถ้าเราไล่ลำดับความยากง่ายเหมาะสม (Scaffolding)
ผมเชื่อว่านักเรียนจะทำโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ได้ ถ้าเราสอนกระบวนการวิเคราะห์โจทย์ให้เขา
ผมเชื่อว่านักเรียนจะต้องเรียนคณิตศาสตร์ผ่านเกม นักเรียนถึงจะชอบคณิตศาสตร์

ความเชื่อทุกอย่างตอนนี้มาหยุดลงที่ Singapore Math Model เคยเห็นเรื่องนี้ครั้งที่ในเฟสที่พี่ไมค์เป็นคนแชร์ เราไม่ได้เข้าไปอ่านรายละเอียดข้างใน แต่รู้แค่คราวๆว่า ประเทศสิงค์โปสอนคณิตศาสตร์นักเรียน โดยใช้สามขั้นตอนด้วยกัน คือ ให้นักเรียนเรียนจากสิ่งที่จับต้องได้(Concrete) เข้าไปอธิบายเป็นภาพ(Pictorial) แล้วจึงลงไปที่ทฤษฎีหรือตัวเลข(Abstract) ช่วงเวลาหนึ่งเทอมที่ผ่านมาก็มั่วมาก ล้มเหลวไปก็เยอะ แต่ทำให้รู้สึกดีในตอนนี้ว่า มันเกิดคำถามและตกตะกอน ตอนที่เรามาสังเกตการสอนอยู่ รวมถึงการได้คุยกับ LDO พี่แมรี่ ซึ่งอู๋รู้สึกชื่นชนและอยากเรียนรู้อะไรอีกหลายอย่างจากเขา

ช่วงเวลาที่ผมสังเกตการสอน เฟลโล่หลายคนแสดงออกถึงความทุ่มเท และทำได้ดีมากๆ ทั้งการควบคุมชั้นเรียน เนื้อหาที่เข้าใจง่าย เกมที่สนุกสนาน แต่ผมก็อดรู้สึกในใจไม่ได้ ว่ามีบางสิ่งบางอย่างขาดช่วงไป ในธรรมชาติของกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน

นึกย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ตัวเองทำ นั้นคือให้นักเรียนจับต้องสิ่งของได้ เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงสู่บทเรียนในแต่ละวัน แต่ทว่าหลายครั้งก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า คำถามที่เกิดขึ้นในใจคือ "แล้วมันจะต้องเป็นยังไงกันแน่หวะ?"

ความล้มเหลว + คำถาม + โอกาส = คำตอบที่ 1 ผมพึ่งรู้จักพี่แมรี่จริงๆได้ไม่กี่วัน จากการคุยกันเรื่อง Assessment(การประเมินระหว่างเรียน)และ Diagnostic test(ข้อสอบวินิจฉัย) เลยลากยาวไปถึง Singapore Math ที่ผมได้กล่าวไว้ในตอนต้น ว่าตอนพี่รี่สอนที่อเมริกา ก็ใช้โมเดลนี้ในการสอน เมื่อมองย้อนกลับมาในประเทศไทย นั้นเราสอนแตกต่างกันสิ่งเชิง ไทยนั้นเรามักจะเข้ามาที่ตัวเลข เนื้อหาหรือทฤษฎีก่อนเลย ซึ่งผมก็รู้ว่ามันไม่ได้ผล จนกระทั้งพี่แมรี่พูดขึ้นมาว่า เขาสามารถใช้วิธีการนี้สอนให้เด็กที่เป็น LD ขึ้นมาสอนแทนเขาได้ แสดงว่ามันต้องไม่ธรรมดาแล้วสินะ!

จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีโอกาสได้ลองเอาแนวทางไปลองใช้จริงๆ มีถ่ายทอดให้เฟลโล่บางคนไปบ้างบางส่วน และคิดทบทวนกับตัวเองถึง เหตุการณ์ในการสอนต่างๆที่ผ่านมา ว่าทำไมมันจึงล้มเหลว ทั้งที่เราก็ใช้แนวคิดนี้ในการสอน จึงพบว่าหลายครั้งเราขาดบางช่วงไป เช่น Concrete แล้วไป Abstract เลยจึงมีนักเรียนบางส่วนเชื่อมโยงไม่ติด เราเข้าใจจุดประสงค์ของ Concrete-Pictorial-Abstract ผิดไป ถือว่าเป็นอีกโลกหนึ่งที่น่าผจญภัยเหลือเกิน :)
เหมือนกรอบความคิดตอนนี้ขยายออกไปมากขึ้น จินตนาการในการสอนไม่ได้ถูกจำกัด ด้วยคำแคบๆว่า ขั้นนำ ขั้นสอน ขั้นสรุปอีกต่อไป เทอมหน้ามันส์แน่และผมก็เชื่อว่าในอนาคต จะมีวิธีการสอนคณิตศาสตร์ที่ดีกว่านี้อีกแน่นอน


Mindset

ยอมรับว่าช่วงนี้บ้าคำนี้มาก ยิ่งอยู่กับพี่อาร์ม ยิ่งพูดคำนี้บ่อยมาก เราคิดว่าเขาเป็นแบบนี้เพราะ Mindset อะไรบางอย่าง คนคนนี้น่าจะมี Mindset แบบนี้ เราจะค่อยๆหา Mindset ของเขาให้ได้ มันน่าจะเป็นทางที่ดีกว่าเราให้กระบวนการเขาไป สามวันที่ผ่านมาทำให้ผมเรียนรู้ แต่ยังไม่อาจเรียกได้ว่าตกตะกอนดีพอ ผมพลาดอยู่หลายครั้งในการตัดสิน Mindset ของคน และเช่นเดียวกันกับการที่คิดว่าทุกอย่างจะแก้ไขได้ด้วยการปรับ Mindset พูดๆไปก็เหมือนจะวางตัวเป็นผู้มีอำนาจเรียกคนไปปรับทัศนคติกลายๆ

ผมยังขาดประสบการณ์อยู่มากในการที่จะวิเคราะห์และตัดสินคน "คำว่าตัดสินคน" อาจจะดูรุนแรงและขาดการมองมิติอื่นๆของคน แต่ผมคิดว่าขณะนั้นเราจะต้องตัดสินใจ

แต่ถึงกระนั้นผมก็ไม่อาจที่จะเจาะจงปัญหาหลักๆ เพื่อเข้าไปแก้ Mindset ของเฟลโล่ได้ดีนัก บางคนก็ได้ผลดีเป็นประโยชน์ บางคนก็อาจทำให้เขาสับสน ถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจศึกษาต่อไป


Mindset เรื่องการเขียนแผน เฟลโล่หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเขียนแผน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจากการพยายามเขียนแผนก่อนสอน
1) เพื่อลดเวลาในการเตรียมอุปกรณ์ ครูครีเอท ทั้งหลายชอบมีปัญหาว่าอยากทำนู๊นทำนี้ เต็มไปหมด และจะลงทุนเวลาไปมากกับการเตรียมสื่อ(ซึ่งเป็นอะไรที่ดีมาก) แต่หากวางแผนดีๆ ลองดูว่าสื่อบางอย่างจำเป็นไหม ใช้นักเรียนเป็นสื่อได้ไหม การเขียนแผนจะช่วยให้เราตระหนักในจุดนี้
2) เพื่อลำดับความคิด มีหลายๆครั้งที่พอผมเขียนแผนแล้ว พบว่ามีการลำดับกิจกรรมการเรียนการสอนใหม่ เพื่อให้เกิด Flow ที่ดีขึ้น คำสั่งชัดเจนมากขึ้น
3) เพื่อย้ำเตือนตัวเองว่า จะไม่ควรขาดวิธีการประเมินผล และมีสื่อในการสอนทุกครั้ง

Mindset เรื่องการให้อิสระแก่นักเรียน ผมเชื่อว่าเพราะเรามีภาพจำกับครูที่ไม่ให้อิสระนักเรียน เราจึงอยากเป็นครูที่ปล่อยให้นักเรียนมีอิสระได้ ซึ่งบางครั้งเราให้อิสระนักเรียนมากเกินไป นักเรียนหายไปจากคาบเราหลายนาที สิ่งที่ควรคำนึงมีดังนี้
1) ความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
2) หน้าที่หนึ่งของการเป็นครูคือสร้างวินัยในตัวนักเรียน ถ้าอิสระทำลายวินัยเราควรกลับมาคิดให้ถี่ถ้วน
3) การให้ทางเลือกกับนักเรียน ส่วนตัวผมถือว่าเป็นอิสระอย่างหนึ่ง แต่มีขอบเขต
4) ถ้านักเรียนไม่ได้เรียนมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร?

Mindset เรื่องข้อจำกัดต่างๆ เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมไปไม่ถึงทางออก นักเรียนพื้นฐานไม่ดี นักเรียนไม่ชอบคณิตศาสตร์ ครูเป็นคนเสียงเบา ครูไม่ใช้คนที่ตลกน่าดึงดูดชั้นเรียน ครูไม่คิดว่าจะสามารถสั่งหรือลงโทษนักเรียนได้ เป็นเรื่องที่รอพูดคุยกันต่อไป


"ที่ที่ทำให้เราสบายใจ ไม่เคยทำให้ใครเติบโต"