Sunday, December 23, 2018

Module 5: Boundary Borderless - แอบรักเพื่อนบ้าน

คุณครู นักเรียน โรงเรียน

Boundary Borderless แอบรักเพื่อนบ้าน

“Where there is love there is life.” -  Mahatma Gandhi
"ที่ใดมีรัก ที่นั้นมีชีวิต" - มหาตมะ คานธี

การเดินทางครั้งนี้เราไปเพื่อหลงรักและเรียนรู้ ไม่อาจบอกได้ว่าสิ่งใดมาก่อนกัน ความรักหรือความเข้าใจ กับคำว่า "ทวายที่ฉันไม่รู้จัก" ไม่เคยได้ยินชื่อเมืองนี้มาก่อน จนกระทั้งได้มาเยือน จะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการศึกษาที่แท้จริงได้หรือเปล่านะ เรียนรู้ที่จะรักและทำให้ความเป็นมนุษย์ในตัวของพวกเรางอกงามขึ้นมา และวินาทีนั้นเองชีวิตได้ถือกำเนิดขึ้นจากความรัก

1 - Stereotype: การเหมารวม

เด็กกับบ้านหลังเขียว เป็นสีที่มีให้เห็นจนชินตา

หากนึกถึงประเทศเหล่านี้อะไรที่ขึ้นมาในหัวเรากัน ลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย? (ถ้าเป็นไปได้ลองจินตนาการไวๆ ก่อนอ่านต่อไป) ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบวิชาสังคมทั้งหมด ตอนเด็กก็ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมเพื่อนถึงชอบวิชาสังคมกันจัง แต่วันนี้เรารู้แล้วว่าวิชาสังคมไม่ใช่ หนังสือกระดาษสีน้ำตาล ที่ประกอบไปด้วยรูปและตัวหนังสือ หากแต่เป็นการเชื่อมโยงของคนถึงคนที่มีชีวิตมากกว่าหนังสือและประวัติศาสตร์ที่ได้ตายไปแล้ว

ประเทศลาว - "Battery of Asia" "เบียร์ลาว" "ประเทศที่สงบ" "ผู้หญิงสวย"
... แต่เราก็รู้อะไรเกี่ยวกับลาวน้อยมาก
ประเทศพม่า - "แรงงานในไทย" "โรฮิงญา" "ท่าเรือน้ำลึก" "เขตเศรษฐกิจพิเศษ"
... ไทยเข้าไปมีส่วนในพม่าอย่างไร
ประเทศกัมพูชา - "เขาพระวิหาร" "ประวัติศาสตร์อันน่าเศร้า" "โขน" "ไสยศาสตร์"
... บางทีประวัติศาสตร์ก็บิดเบือน
ประเทศมาเลเซีย - "เขามายุ่งกับสามจังหวัดทำไม" "เพื่อนบ้าน"
... ประเทศที่คนแตกต่างเขาอยู่กันยังไง

ผมจำได้ไม่หมดว่าในกระดาษที่พวกเราเขียนแผ่นนั้นเราเปิดใจที่จะเล่าเรื่องอะไรกันบ้าง สิ่งสำคัญคือการที่เราได้สะท้อนความเชื่อฝังลึก ความคิดที่มีอยู่ของเราแต่ละคน และได้รับฟังอย่างไม่ตัดสินกับเสียงจากฝั่งตรงข้าม กับความคิด ในขณะเดียวกันนั้น

ประเทศไทย - "หยิ่งยะโส" "ไม่ฟังใคร" "มีคนต้นแบบมากมาย" "การหักหลัง" "เพื่อนบ้าน"

... แล้วประเทศเพื่อนบ้านเขามองเราอย่างไรนะ

ภูมิคุ้มกัน (Immunity) ของเราก็ทำงานกันเล็กน้อย บางคนเกิดอารมณ์ขึ้นมาอย่างเงียบๆ "มันเป็นความคิดแบบเหมารวม ไม่ใช่คนไทยทุกคนเป็น" มันอาจจะไม่เป็นความจริง แต่ในช่วงเวลานั้น มันเป็นความจริงที่เพื่อนของเราคิดเช่นนั้น เป็นสิ่งที่อยู่ในหัวของพวกเรา บางอย่างมาจากหนังสือเรียนสังคมที่พวกเราเรียน ประวัติศาสตร์ถูกเขียนเพื่อเล่าความจริง "ในแบบที่เราอยากให้เป็น"

จุดเริ่มต้นของคำถาม กำลังพาเราให้ก้าวออกเดิน เพื่อไปค้นหาคำตอบด้วยตัวของพวกเราเอง ค่ำคืนนี้ผ่านไปด้วยเสียงเพลง ภาษา อาหาร และเครื่องแต่งกาย ที่ทำให้เราพบว่าเราต่างไม่ต่างกัน "เส้นแบ่งเขตแดน" ต่างหากที่แบ่งแยกพวกเราออกจากกัน ให้พวกเราไม่ใช่พวกเขา

2 - Please call me Kachin: โปรดอย่าเรียกฉันว่าคนพม่า โปรดเรียกฉันคนคะฉิ่น

วัดพระเจดีย์ชเวตองจา (Shwe Taung Sar Zedi)
คะฉิ่นเป็นรัฐหนึ่งที่อยู่ตอนเหนือของพม่า มีกองกำลังสู้รบกับรัฐบาลพม่าอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะการเอาเปรียบที่รัฐบาล (ทหาร) ของพม่าเอาไปจากพื้นที่ทั้งทรัพยากรและอิสระภาพ คะฉิ่นไม่ใช้เป็นเพียงกลุ่มเดียวในพม่าที่มีปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ในพม่ามีหลายรัฐมากที่ไม่ยอมรับว่าตนนั้นคือพม่า ต่างรัฐต่างมีธงของตนเอง

ตัดภาพมาทีธรรมชาติของคะฉิ่นเป็นธรรมชาติที่สวยงาม มีหิมะ มีเขาที่สูงที่สุดอยู่ซึ่งเป็นแนวเขาเดียวกับหิมาลัย มีการขุดค้นพบฟอสซิล เจอหยกก้อนใหญ่ (ที่สุดท้ายรัฐบาลพม่าก็เอาไป) แต่ถึงกระนั้นด้วยความที่มีปัญหาปะทะกันตลอดเวลา สถานที่นี้จึงเข้าถึงได้ยากนัก คาดการณ์กันว่าถ้าเกิดความสงบขึ้นคะฉิ่นจะเป็นอีกที่ที่น่าไปเที่ยวแน่นอน

เป็นการทรยศของรัฐบาลหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชนกลุ่มน้อยที่คาดว่าจะได้ปกครองตัวเองตามที่ได้สัญญากันไว้กลับถูกครอบด้วยรัฐบาลกลางของพม่า และที่ตั้งของรัฐคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ของเศรษฐกิจพม่า ทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อกับประเทศอื่น มีทรัพยากรธรรมชาติ แต่พวกเขากลับยังคงยากจนและอ่อนแอ

AEC (ASEAN Economic Community) หนึ่งในสามเสาหลักของ ASEAN เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นสามารถมาลงทุนข้ามประเทศกันได้ โดยปราศจากภาษีหรือภาษีต่ำ ดึงดูดนักลงทุนจากประเทศที่พัฒนากว่าให้ไปลงทุนในต่างแดน เช่น ไทยไปลงทุนเขื่อนในประเทศลาว ไปลงทุนบ่อก๊าซธรรมชาติที่พม่า เป็นต้น ประเทศที่เปิดให้มีการลงทุนก็คาดว่าประเทศจะพัฒนาขึ้นจากการมีงานและโครงสร้างพื้นฐานที่เข้าไปถึง

โครงการก๊าซธรรมชาติสี่โครงการในพม่า มีการต่อท่อส่งกลับมายังประเทศไทยผ่านกาญจนบุรี และอีกส่วนส่งต่อไปยังประเทศจีน โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไทยเข้าไปลงทุนที่ทวาย (เราจะเดินทางไปดูพรุ่งนี้)

ผมย้อนกลับมาในห้องอบรมสี่เหลี่ยม แอร์ที่กำลังเดินเครื่องอยู่ก็มาจากพลังงานก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของไทย ขณะที่เรากำลังสบายอยู่คนพม่าที่ใกล้แหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ กลับยังคงใช้ solar cell ในการผลิตไฟและเคยมีแผนจะใช้พลังงานถ่านหินที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของชาวบ้าน เหมือนถ่านหินทร่เกิดการสันดาษตัวเอง สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อชีวิตมนุษย์โดยรอบอย่างยิ่ง

"เรากำลังยืนอยู่บนอะไรอยู่" ผมคิด ความสะดวกสบายของคนกลุ่มหนึ่งที่มาจากความทุกข์ยากของคนอีกกลุ่มหนึ่งโดยที่เราไม่รู้สึกอะไร เพราะเราไม่รู้เราไม่เห็น คนที่รู้ก็หาประโยชน์จากมัน

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในพม่าที่จะมีขนาดใหญ่กว่ามาบตาพุดที่ไทยสิบเท่า ทำให้ชาวบ้านที่มีที่ทำกินหลายครัวเรือนต้องออกจากพื้นที่ แหล่งโบราณสถานถูกทำลาย

ความก้าวหน้าของประเทศกับความเป็นธรรมในสังคม กลไกของระบบทุนที่ทำงานของมัน ในขณะที่ระบบของอำนาจทำให้เสียงที่จะคานระบบทุนเงียบลง ในทุกวันนี้เรามีองค์กรที่เข้าช่วยเหลือเพื่อนให้คนสามารถเรียกร้องและมีสิทธิมีเสียงในประเทศมากขึ้น แต่นั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้พลังและเสียงของคนรุ่นใหม่ร้องดังขึ้นท่ามกลางอำนาจที่รัฐมีได้

กลไกของประเทศแต่ละประเทศกำลังเดินไป กลไกของโลกกำลังเดินไป ทุกการเคลื่อนไหว การต่อสู้ นโยบาบเป็นการคานของอำนาจ เพื่อให้เรายังคงรักษาความเชื่อเรื่องเสรีนิยมให้คงอยู่ไว้ โลกต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาเรื่องคนสิ่งไหนจะทำลายเราก่อนกัน เราจะอยู่รอดจากสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ต่อจากนี้เป็นการเรียนรู้เพื่อลงมือทำเปลี่ยนแปลงในจุดของเรา...โชคดีไหมที่เกิดมาเป็นคนไทย

3 - Foreign labor: แรงงานพม่า ที่ย้อนกลับมาสู่บ้านเกิด


พ่อค้าที่เคยทำงานที่ไทย

ระหว่างการเดินทางด้วยรถตู้จากด่านที่กาญจนบุรี สู่เมืองทวาย เป็นทางลูกรัง ที่ชวนให้อาหารเช้าที่ทานไปย่อยหรือไม่ก็พร้อมที่จะเดินทางออกมาได้ทุกเมื่อ สองข้างทางเราจะเห็นโรงงาน และบ้านพักคนงาน บางโรงงานก็เป็นของไทย มีรถขนส่งแก๊สขับผ่านเราไปอยู่สองคัน ด้วยสภาพถนนที่ไม่ค่อยดีนัก เราทำได้แต่นั่งมองดูฝุ่นตลบที่เกิดขึ้นจากรถที่วิ่งผ่านไปมา กับดินที่แห้งเป็นฝุ่นผง ใบไม้ต้นไม่สองข้างทางที่เคลือบด้วยฝุ่นดูแปลกตา

มามองภาพรวมทางเศรษฐกิจของพม่ากันหน่อย รายได้ครึ่งหนึ่งของพม่ามาจากการขายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสิ่งที่ขายเป็นจำนวนมากนั้นคือน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ การทำเช่นนั้นไม่ส่งผลดีกับคนพม่าด้วยสองประการ หนึ่งคนพม่าไม่มีงานทำเพราะเอาสิ่งที่มีไปขายเลย สองพม่าต้องซื้อสิ่งที่แปรรูปจากทรัพยากรของตัวเองกลับมาอีกที

แต่ทว่าเงินที่ได้จากการขายทรัพยากรของตนเอง ไม่ได้ถูกเอามาลงกับการพัฒนาคนของประเทศซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดของประเทศ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะมาจากคนที่มีคุณภาพ

วงจรที่กำลังดำเนินอยู่กับพม่าเป็น ดังนี้ คนพม่าไม่มีงานทำ คนพม่าเดินทางมาทำงานในไทย รัฐไม่สามารถพัฒนาคนของตนได้ รัฐขาดแรงงานที่มีฝีมือ รัฐไม่สามารถขยายตลาดแรงงานได้ คนพม่าไม่มีงานทำ ยังมีอีกหลายปัจจัย ทั้งเรื่องความอดอยาก อาหารที่ไม่เพียงพอเพราะน้ำท่วมบ่อยครั้ง

ตลาดนัดเป็นแหล่งที่ เราจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนทวาย เราจึงเดินหาร้านค้าข้างทาง หรือตลาดซักแห่ง จนไปเจอถนนที่มีร้านค้าเรียงราย สิ่งที่สังเกตเห็นคืออาหารที่ขายส่วนใหญ่เป็นอาหารไทย หลังจากถามไถ่ จึงได้รู้ว่าพ่อค้าแม่ค้าแถบนี้เคยไปทำงานร้านอาหารที่ไทยมาก่อน เขาบอกว่าเขาจำวิธีการทำอาหารไทยได้ แต่อาหารพม่าจำไม่ได้แล้ว

สุดท้ายพวกเขาก็กลับมาสู่บ้านเกิด ระหว่างนั่งทานอาหารไป ขอฝึกภาษาพม่าไป เราพบว่าคนพม่าที่นี้ยิ้มแย้มนิสัยดี เอาจริงแล้วเราควรยกคำว่าเมืองยิ้มให้เขาหรือเปล่านะ "ทวายเมืองยิ้ม"

4 - Formal and Informal Education: การเรียนรู้ในห้องเรียนและน้องห้องเรียน

เช้านี้มีโอกาสได้วิ่งรอบที่พัก ผ่านวัดและร้านค่าต่างๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเสียงท่องบทเรียนที่จะลอยออกมาจากอาคารที่ดูเหมือนบ้านเรือนทั่วไปอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เวลาประมาณ 6 โมงเช้าในวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำให้เกิดคำถามกับการศึกษาของที่นี้ เราเคยเชื่อว่าเราติวกันหนักแล้ว เช้าขนาดนี้เขาเรียนกันหนักกว่าเราหรือเปล่านะ


มหาลัยทวายที่ไม่ได้รับการดูแล

ห้องเรียนที่ดูทรุดโทรมเป็นห้องเรียนของ Dawei University ที่ไม่ได้รับการดูแลแม้ว่าวันจันทร์ถึงศุกร์จะมีการเรียนการสอนก็ตาม โต๊ะที่ฝุ่นจับหนา เศษชอล์กที่กระจายตามพื้นห้อง และโต๊ะเรียนที่ถูกเรียงอย่างเป็นระเบียบ ทั้งหมดนี้เป็นเศษส่วนหนึ่งที่สะท้อนกับการบริหารจัดการของรัฐบาลพม่า ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา

หลังจากถามเรื่องราวจากพี่ทีมงานที่ไปด้วยกันก็พอจะจับความได้ว่า ในอดีตเคยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยมาเดินเรียกร้องกับรัฐบาลในตัวเมืองย่างกุ้งในปี 1988 รัฐบาลก็เข้าควบคุมมหาลัย ย้ายมหาลัยออกไปอยู่ไกลจากตัวเมือง และยังลดการเข้าถึงของการศึกษาคนลงไปอีกเพื่อใหัควบคุมคนได้มากขึ้น

ผมเคยถามเพื่อนพม่าคนหนึ่งที่ไปด้วยกัน เขาบอกว่า การเรียนการสอนที่นี้ยังคงเป็นการสอนตามตำรา ที่อาจารย์ ครู อ่านหนังสือตามตำราสอนนักเรียน นักศึกษาอยู่ ไม่ได้มีกระบวนการในแบบที่พวกเรามักจะได้เรียนกัน หรือต้องทำให้กับนักเรียนของเราเอง

งานหลงรักทวาย

ถ้าจะจินตนาการภาพตามว่างานหลงรักทวายเป็นอย่างไร ให้นึกถึงงานตลาดนัดแถวต่างจังหวัด มีเวทีการแสดง ของกิน เด็ก คนแก่ ครอบครัว วัยรุ่น การแสดงวัฒนธรรม การแสดงดนตรีของคนรุ่นใหม่ มีชาวบ้านที่เป็นชาวประมงกลุ่มใหญ่ที่มางานนี้ มีชาวบ้านทำขนมมาแจกฟรีให้คนที่มางานกินกัน

บนเวทีมีงานเสวนาของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการศึกษาของคนในพม่าเราก็มีส่งตัวแทนคนหนึ่งไปด้วยเช่นกัน สิ่งที่แปลกใจคือสายตาของทุกคนตั้งใจฟังสิ่งที่พูดบนเวทีมากจนน่าแปลกใจเพราะถ้าเขามาบันเทิงอย่างเดียว การมาฟังอะไรแบบนี้เขาน่าจะไม่สนใจ แต่กลับเป็นว่าไม่ว่าคนแก่ พ่อแม่ เด็กต่างก็ฟังกันหมด

เรียกได้ว่าการศึกษาเป็นโอกาสที่มีน้อยในยุคสมัยที่ผ่านมา และชาวบ้านเชื่อว่าการศึกษา เพื่อสร้างคนจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นโดยรวม ทวายสามารถเป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้ แต่ต้องมาพร้อมกับการสร้างคนที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

มีการคุยกันว่าการศึกษาคืออะไร ปัญหาไม่แตกต่างจากไทย การสอนแบบท่องจำ และใช้จริงไม่ได้ หันกลับมาอีกภาพหนึ่ง งานหลงรักทวายนี้หละคือการศึกษา เด็กได้เรียนรู้วัฒนธรรม การแสดง อาหาร จากการร่วมงานพร้อมพ่อแม่ของพวกเขา มันมีความเป็นคนกับคนที่เชื่อมถึงกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่การศึกษาดึงออกไปจากการเรียนรู้อย่างน่าตลก

จากภาพที่เห็นเชื่อว่าพม่ากำลังจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกมากมายที่จะต้องเผชิญ เช่น หลักสูตรในมหาลัยที่ไม่เอื้อต่อการไปศึกษาต่อต่างประเทศ คนที่มาเรียนหมอแล้วไม่ไปเป็นหมอเพราะค่าแรงถูกเกินไป มีเพื่อนพม่าผมหลายคนเป็นเช่นนั้น การศึกษากับแรงงานเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองแยกจากกันได้ ใช่การศึกษามีเพื่อเป้าหมายในชีวิตที่มากกว่าการทำงาน แต่เราไม่อาจมองข้ามปากท้องที่จะได้รับการเติมเต็มจากการศึกษาไปได้


5 - Religions - พุทธ ฮินดู อิสลาม



พระที่ดูแลนักเรียนหญิง
ผมมองเรื่องของศาสนาเป็นเรื่ององค์ความรู้ในระดับ 1,000 - 2,000 ปีขึ้นไป และยังคงใช้งานได้ถึงปัจจุบัน ความไม่ธรรมดาไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม เป็นการสั่งสมเรียนรู้สร้างกฎข้อกำหนดต่างๆ ความรู้ทางด้านจิตวิญญาณ หากมีโอกาสและเจออาจารย์ดีๆ ผมก็อยากเรียนรู้ทางนี้บ้างเช่นกัน เลยตัดสินใจไปดูพื้นที่ ที่สามศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้ อยู่ห่างไม่ไกลจากโรงแรมที่เราพักอยู่ เพิ่งมารู้เอาตอนที่ได้ไปแล้วมาวิ่งตอนเช้าอีกวันว่า อ้าวใกล้แค่นี้เอง

ในพม่าจะชอบมีข่าวโคมลอยว่าคนอิสลามทำร้ายคนพุทธ และกระจายไปตามสื่อออนไลน์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันจริงไหมตามประสาข่าวที่ไม่มีที่มาที่ไป แต่คนก็เชื่อกันมาก และกลัวคนอิสลามกันมาก จนถึงขั้นที่มีการแจ้งไปทั้งรัฐบาลให้มีการดำเนินการต่างๆ อย่างเคร่งครัด

ความแตกต่างที่มองเห็นแต่ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดน ชุมชนนี้อยู่กันได้อย่างไร แรกสุดเราเข้าไปที่วัด สิ่งที่แปลกใจคือการบอกเล่าว่าโรงเรียนวัดแห่งนี้ มีเด็กคริสต์มาเรียนในวัด ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่มีเงินเรียน เลยไม่ได้ไปโรงเรียนรัฐบาลหรือแม้กระทั้งในโบสถ์ด้วยเช่นกัน และพระที่นี้ค่อนข้างใกล้กับเด็กผู้หญิง หากเป็นในไทยคงจะถือว่าผิดศีลไปแล้ว

ข้ามฝั่งมามีวัดฮินดูและมัสยิด อยู่ถามเรื่องราวจึงทราบว่า สามสถานที่ทางศาสนานี้ ไม่ได้ต่างคนต่างอยู่ ถ้ามีงานพิธีอะไรคนก็จะมาเข้าร่วมกันหมด อิสลามก็เข้าพิธีของพุทธได้ ฮินดูก็เข้าของอิสลามได้ อาหารก็ทานแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสบายเพราะที่นี้อาหารส่วนใหญ่เป็นปลาจากแม่น้ำและทะเล

การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเช่นนี้ ทำให้กลุ่มของศาสนาเข้มแข็ง เมื่อมีการจับตามมองจากภาครัฐถึงศาสนาอิสลาม ก็จะพบว่าอิสลามที่นี้อยู่กับคนพุทธได้ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรจะเข้ามาแทรกแซงได้ ศาสนาจึงอยู่กันได้อย่างสงบ

เป็นความแตกต่างที่มีจุดร่วมกัน เพราะเราต่างมีความรู้สึกของความเป็นเพื่อนมนุษย์ไม่แตกต่างกัน

6 - Kalonetar with Pooh: เสวนา กาโลนท่า กับหมีพูห์

บ้านพม่าจะมีส่วนที่ยื่นออกมาแทบทุกหลัง

"นายกำลังทำอะไรอยู่หรอ"
"ฉันกำลังคิดว่าจะเล่าเรื่อง กาโลนท่า ยังไงอยู่หนะ"
"กระโถนน้ำผึ้งหรอ"
"ไม่กาโลนท่าหนะ กาโลนท่า เป็นหมู่บ้านหนึ่งในพม่า"
"แล้วที่นั้นมีน้ำผึ้งไหม ที่ไกนที่มีน้ำผึ้งเรื่องเล่าจะดีเสมอ"
"มีสิมีเป็นน้ำผึ้งป่าด้วยนะ เป็นความหวานที่มาจากใจกลางป่าที่พวกงเขาดูแลรักษา"
"นายจะเขียนเรื่องกระโถนน้ำผึ้งหรอ"
"เออเปล่าหนะ ฉันแค่ตอบคำถามเฉยๆ หนะพูห์ แต่ว่านายกินได้นะฉันเอามาขวดเล็กขวดหนึ่ง กะว่าเอาไว้กินตอนปวดท้อง เขาบอกว่ามันใช้เป็นยาได้หนะ"
"จริงหรอนายใจดีจัง มิหน่าหละฉันเลยไม่เคยป่วยเพราะฉันกินยาตลอด ฉันหมายถึงตรงนี้นะ" หมีพูห์ชี้ไปที่หัวใจของมัน แล้วกระโดดล้มลงที่พื้น เดินไปหยิบน้ำผึ้ง

"เอาหละนายได้ที่แล้วใช่ไหม ฉันคงต้องผึ้งนายแล้วหละพูห์สำหรับบทความบทนี้"
"ให้ฉันช่วยหรอ แต่ฉันไม่มั่นใจเท่าไรนะ"
"ไม่เป็นไรแค่นั่งฟังก็พอ แค่นี้ก็ช่วยได้แล้วหละ"

ประเทศพม่าเพิ่งเปิดกว้างมากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง และพวกเขาเชื่อว่าการลงทุนจากต่างประเทศ จะช่วยสร้างงานและพัฒนาประเทศได้ โครงการอุตสาหกรรมจึงเกิดขึ้น หมู่บ้านหลายที่ถูกขอให้ย้ายออกจากบริเวณที่จะมีโรงงาน ซึ่งตอนนี้หมู่บ้านเหล่านั้นหายไปแล้ว และมีแต่ความว่างเปล่าเพราะโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ถูกระงับลง เพราะการต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้าน ทำให้บางหมู่บ้านยังคงอยู่ได้ กาโลนท่า เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่อยู่ได้ จากการที่จะเป็นพื้นที่น้ำท่วมเพราะการสร้างเขื่อน เพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และกานผลิตไฟฟ้า

"แล้วพวกเขาผ่านมันได้ได้ยังไงหละ"
"พวกเขาก็ไปถามผู้รู้หนะ ว่าควรจะต้องทำอย่างไร"
"พวกเขาไปหาอาล์วหรอ อาล์วเขาดูมีความรู้มากมายเลยนะ"
"ก็อาจจะใช้นะ แต่เขาไม่ได้ไปหาอาล์วแค่คนเดียว เขายังหาเครือข่ายต่างๆ ในทวาย และสื่อเพื่อที่จะบอกเล่าเรื่องราวของหมู่บ้าน และผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน"
"ฉันว่าพวกเขาเหมือนฉันเลย เขารักน้ำผึ้งหนะ อืมรักษาป่าเพื่อให้มีน้ำผึ้งไว้กิน"
"ใช้แล้วพูห์นั้นคือความสุขของชีวิตเลยหละ และฉันว่าพวกเขาก็ออกจะเหมือนนายนะ ผ่านปัญหาไปได้เรื่อยๆ อย่างเป็นธรรมชาติ และมองโลกในอย่างที่เป็น"
"พวกเขาก็ร้องเพลง ขนมครกเอยขนมครก ด้วยสินะ ถามมาฉันจะบอกไป ขนมเอยขนมครก"
"ขนมเอยขนมครก การมองโลกในอย่างที่มันเป็น ฉันชอบที่พวกเขาถ่อมตัว เขาเล่าทุกอย่างในแบบที่เป็น และขอคำแนะนำเสมอจากพวกเราทั้งที่ไปเรียนรู้จากเขา"

ที่ กาโลนท่า ก็ยังคงต้องสู้ต่อไป หากแต่เขายังคงพัฒนาชุมชน ทำการศึกษาธรรมชาติรอบหมู่บ้าน ตีพิมพ์หนังสือ ปรับปรุงหมู่บ้านใฟ้รองรับกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาโรงเรียนและสาธรณะสุขให้มีคุณภาพมากขึ้น ยังมีความท้าทายมาอีกเรื่อยๆ เหมือนคลื่นลมที่พัดเข้าฝั่ง เมื่อเรายังมีลมหายใจอยู่ปัญหาและอุปสรรคก็เป็นเรื่องธรรมดา ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

"นายจำตอนที่อียอร์ลอยน้ำมาได้ไหม ที่ทุกคนต่างแตกตื่น ไม่สิแค่พิคเล็คแตกตื่น ทิงเกอร์ ก็พูดไม่หยุด จู่ๆ นานก็เอาหินโยนลงน้ำไป และอียอร์ก็ลอยเข้าฝั่ง
"ฉันก็แค่ทำมันไง"
"ใช่เราก็แค่ต้องการคนลงมือทำบ้างหนะในบางครั้ง คนเราคิดกันเยอะเกินไปหน่อยนะฉันว่า"

จบแล้ว เพิ่มเติมที่หมู่บ้านกาโลนท่า ก็จะมีการปลูกเม็ดมะม่วงหิมะพาน และก็ปลูกหมาก ถ้าใครได้ไปเยี่ยมชมก็จะเจอการสับหมากแกะเปลือก มีลูกหมากวางบนก้อนหินที่กลางแม่น้ำ ชาวบ้านบอกว่า ความร้อนของหิน แสงที่ได้รับเต็มๆ จะทำให้หมากแห้งไวขึ้น และแม่น้ำห่างไกลจากฝุ่นได้มากกว่า การศึกษายังคงเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาขึ้นอยู่ เพราะที่นี้ไม่สามารถสอนเด็กจนถึงการศึกษาสูงสุดของระบบพม่าได้ (สูงสุดที่ grade 10) และยังขาดครูจำนวนมาก ปัจจุบันมีครูจากรัฐแค่สองคน ที่นี้เคยเป็นแหล่งทำเหมืองแร่ และยังคงมีแร่หลงเหลืออยู่ แม่น้ำระหว่างทางไปหมู่บ้านก็สวยมาก แต่เราจำชื่อไม่ได้ จุดศูนย์รวมของหมู่บ้านคือหลวงพ่อ ที่เป็นนักคิดและนักพัฒนา พาให้ชาวบ้านผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้

7 - Social Interaction: การปะทะสังสรรค์

ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ การเล่นก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

สุดท้ายพื้นฐานของมนุษย์คือสังคมและการได้มองเห็นซึ่งกันและกัน อย่างเป็นเนื้อแท้ พูดในสิ่งที่รู้สึก เป็นอิสระ ปะทะสังสรรค์ทางความคิด ความเชื่อ และความรู้สึก เป็นเนื้อแท้ที่ไม่ได้มีเปลือกนอกที่ซับซ้อนห้อหุ้มตัวตนที่แท้จริงของตนเอง

บางครั้งเราก็กลัวกันไว เหมือนเม่นในหน้าหนาว ความกล้าหาญที่จะความหวังดีกลับทำร้ายกัน ทิ้มแทงเหมือนเข็มเข้าที่อ่อนแอที่สุด ลึกที่สุดจนถึงใจกลาง ต่างคนต่างเจ็บปวด เข้าสู่สภาวะความย้อนแย้งในตนเอง ตีตัวออกห่างจากกัน แม้จะโหยหาหากแต่เจ็บปวด เริ่มหาระยะที่สบายใจ ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป หลีกเลี่ยงการปะทะสังสรรค์ และไม่ได้เติบโต

หากเชื่อมั่นในพื้นที่ปลอดภัยและการปะทะสังสรรค์แล้ว จงทำต่อไปแม้จักล้มเหลวและเจ็บปวด ทุกครั้งที่ปะทะกับภายในเราจะค่อยๆ ได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ การสลายความไม่รู้ทำให้เรากลัวน้อยลง เกลียดชังกันน้อยลง แต่หากย้อมแพ้เราจะติดอยู่ในสภาวะต่อไป ความพลาดมีเหตุ ความคิดที่ไม่ถูกต้อง ความรู้ที่บกพร่อง เครื่องมือที่ขาดการซ้อม มีหลายอย่างที่จะทำให้เราเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความกลัว เราหนีความกลัวด้วยคำว่า เกรงใจ กลัวคนตรงข้ามเสียใจ ไม่ว่ายังไงซะเราก็คือคนที่หนีปัญหาด้วยหน้ากากอีกชั้นและอีกชั้น ชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นจะสร้างโลกใหม่ โลกใหม่ที่เราจะมองเห็นความจริงได้น้อยลง น้อยลงไปทุกที เหมือนมีม่านบาง มาบังตาซ้อนหนาขึ้น และหนาขึ้น

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เลือกตลอดเวลา และเราเลือกตามประโยชน์และโทษที่มองเห็นตามระดับความเข้าใจโลกของเรา การเงียบเราได้ความปลอดภัย สบายใจ แต่เราสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป การปะทะเรามีความเสี่ยง เสี่ยงต่อการดูไม่ดี เสียความสัมพันธ์ ในขณะเดียวกันเราก็ได้แลกเพื่อรักษาตัวตนของเราไว้ ความเป็นอิสระ และพลังในการมีชีวิตต่อ ทุกครั้งที่เราเลือกเราเสียบางอย่าง แต่ก็ได้บางอย่างกลับมาเสมอ

ต่างคนต่างกลัว ความกลัวที่ไม่รู้จบ คนคนนี้ไม่คุยกับเราเลย เรากลัวว่าเขาจะไม่ชอบเรา ฝั่งตรงข้ามก็กลัวเพราะความเงียบของเรา การเรียกร้องให้คนอื่นเปลี่ยนมักจะไม่ได้ผล เราต้องเปลี่ยนที่ตัวของเราเอง เข้าไปพูดคุยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน ถ้าไม่ใช่เราแล้วใครหละ จะสร้างโลกในแบบที่เราอยากให้เป็น

8 - Conclusion: บทสรุป


การเรียนพิเศษก่อนไปโรงเรียนในยามเช้าตรู่

เป็นการเดินทางที่คุ้มค่ามาก ความเข้าใจทำให้มนุษย์ใกล้กันมากขึ้น อาจารย์ที่อเมริกามักจะสอนเสมอว่า คนเรากลัวเพราะเราไม่รู้ และเพราะเรากลัวเราจึงคิดมากไปต่างๆ นาๆ ไม่มีกฎหมายมาบอกว่าความไม่รู้เช่นนี้เป็นเรื่องที่ผิด แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราเปิดใจ เรียนรู้ความแตกต่างของคนอื่น สิ่งที่ได้คือเราก็กลัวน้อยลง เราก็มีอยู่ในสังคมที่มีความสบายใจมากขึ้น

ทุกวันนี้เวลาไปร้านอาหารถ้าเราแน่ใจว่าเขาเป็นคนพม่า เราก็จะขอบคุณเขาด้วยภาษาพม่า "เจซูบา" คนพม่าทุกคนบนโลกตอนนี้ปลอดภัยมากขึ้น และมากกว่านั้นเราเห็นความเป็นมนุษย์ของเขามากขึ้น เป็นคนที่ทุ่มเททำงานหนักเพื่อให้ได้อนาคตที่ดีขึ้นไม่ต่างจากเรา

เรายังคงทำงานด้านการศึกษาอยู่อย่างต่อเนื่อง และหวังว่าซักวันหนึ่งจะได้ขยายงานไปลงในประเทศพม่ามากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะมีอีกหลายเรื่องที่อยากเรียนรู้ และอยากให้คนในพม่าได้พัฒนาศักยภาพขึ้นมาด้วยเช่นกัน

บริษัทในประเทศไทยได้ประโยชน์จากพม่าเยอะมาก โดยที่คนพม่าส่วนมากไม่ได้อะไร ไม่ใช่ความผิดของไทย หรือคนพม่า แต่เป็นรัฐบาลที่ต้องดำเนินการเพื่อให้การลงทุนจากไทยเป็นประโยชน์โดยรวมต่อคนพม่าในประเทศ

สิ่งหนึ่งที่ชอบของพม่าแต่ไม่ได้เล่าคือ เครื่องแต่งกายประจำชาติ เป็นเรื่องปกติที่จะใส่กัน ไม่ว่าคนแก่หรือวัยรุ่น ก็ยังคงใช้โสร่งเป็นกิจวัติประจำวัน ต่างกับที่ไทยที่เราไม่ได้ใส่เครื่องแต่งกายประจำชาติของเรากันแล้ว ยกเว้นในวันสำคัญจริงๆ

อาหารไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดไว้ เพราะพ่อมักจะมีงานไปทำที่พม่า และเล่าว่าอาหารที่นั้นไม่สะอาด ก็คงมีพื้นที่ที่ไม่สะอาดอยู่จริง แต่ที่เราไปทานอาหารอร่อยก็มีมาก อาหารมันแต่ไม่มากจนเกินไป เราชอบกินปลาที่นี้มาก เนื้อแน่นและปรุงด้วยเครื่องเทศ

คิดว่าคงจะได้กลับมาอีกในเมืองอื่นๆ เป็นประเทศแรกที่เรารู้สึกว่าอยากกลับไปจริงๆ ตั้งแต่เดินทางออกนอกประเทศมาก คงเพราะเราได้รู้จักพม่ามากกว่าคำว่า "พม่า" ถ้าประเทศอื่นเราได้ไปแบบเจาะลึกแบบนี้บ้างก็คงจะดี ยังคิดเลยว่าถ้าไปลงเรียน Global Study ด้านการศึกษาจะทำให้เรามีโอกาสแบบนี้อีกหรือเปล่านะ การเปิดโลกมากขึ้น เท่ากับว่าเราเข้าใจโลกมากขึ้น และลงมือทำอะไรจากสิ่งที่มันเป็นจริงๆ

ขอบคุณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส. - TVS) มา ณ ที่นี้ด้วย และ Dawei Development Dssociation (DDA) องค์กรที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในเมืองทวายมาอย่างยาวนาน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของเพื่อนพม่าหลายคนที่มาเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนแบบนี้ การเปิดพม่าเป็นไปแค่ 3 ปีเท่านั้น หลังจากนี้พม่าดูน่าสนใจและน่าจับตามองมากขึ้น

เพื่อนๆ ดูเติบโตกันมากขึ้น คิดว่าไม่ได้คิดไปเอง คนที่ไม่กล้าพูดก็พูดมากขึ้น เรากลับมาฟังกันมากขึ้น ปะทะสังสรรค์กันได้มากขึ้น ออกเดินทางไปมีประสบการณ์ต่างๆ กลับมาแลกเปลี่ยนกัน แล้วเจอกันใหม่โมดูล 6

Wednesday, September 26, 2018

Module 4: การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง - มนุษย์หุ่นกระบอก


มนุษย์หุ่นกระบอก เชือกด้ายพาหุ่นกระบอกไปที่ต่าง ๆ ไปทำในเรื่องเดิมและได้รับผลเดิม แม้ว่าไม่พอใจกับสิ่งที่เป็น หุ่นกระบอกก็ยังคงตามเส้นเชือกไปวันแล้ววันเล่า และคิดว่านั้นคือเจตนาของตนเอง เพราะสายตามองไม่เห็นเส้นด้ายที่นำพาและกีดกันวิถีชีวิต ให้ยังคงวนเวียนอยู่กับความทุกข์และรู้สึกดีขึ้นเมื่อความทุกข์คลายลง วนเวียนแบบนี้ซ้ำไป จนวันหนึ่งมีเสียงบอกให้หุ่นกระบอกลองมองเข้าใจที่หัวใจและสำรวจตัวเอง ทำให้มองเห็นเชือกที่นับวันจะพันกันมากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัววันนี้หุ่นกระบอกรู้แล้วว่าแท้จริงปัญหาอยู่ที่ตัวหุ่นกระบอกเอง และทนทุกข์อยู่กับความจริงไม่นานก็เริ่มที่จะสละเชือกบางเส้นทิ้ง เหลือเพียงสิ่งที่จำเป็นและมีคุณค่ากับตัวหุ่นกระบอกเอง เหมือนเวทมนต์ เชือกที่น้อยลงทำให้หุ่นเห็นว่าตนสามารถทำอะไรได้มากกว่า เป็นอิสระมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น

ช่วงโมดูล 4 มีเหตุให้ต้องสละช่วงอบรมไปจนได้เข้าร่วมไม่กี่วัน แต่ก็ได้รับโอกาสให้ยังคงร่วมกระบวนการต่อได้ ต้องขอบคุณตัวเองที่ยังคงเลือกที่จะเดินหน้าต่อ และขอบคุณอาจารย์ที่เปิดรับอย่างใจกว้างให้ผมเข้าร่วมวิชาละครด้วย จากทีแรกคิดว่าจะไม่เข้าแล้วเพราะละครคือประสบการณ์ ถ้าไม่เข้าร่วมกระบวนการก็เหมือนนั่งดูละครอยู่ในโรง ผมคิดแบบนั้น ... ครั้งนี้ได้เรียนรู้กับพี่นาฏจากกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว กระบวนการละครมีส่วนที่เหมือนจากมะขามป้อม (มูลนิธิสื่อชาวบ้าน ใช้ละครเพื่อการสื่อสาร) และต่าง ซึ่งผลสุดท้ายแล้วผมรู้สึกลงไปสู่ภายในจิตใจได้ลึกขึ้น (ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองอุปทานไปเองหรือเปล่า) ก่อนจะไปถึงตรงนั้นซึ่งอยากจะเล่าสภาวะอย่างละเอียดให้ฟังขอย้อนวันแรกเท่าที่ฟังจากคนอื่นให้ฟังก่อนละกัน

เพื่อนๆ ที่เข้ามาเรียนละครมีบางส่วนยังรู้สึกไม่มั่นใจกับตัวเอง วันแรกเป็นไปด้วยความลำบากมาก พี่นาฏเล่าว่าเทกระบวนการที่เตรียมมาอย่างดีทิ้งไปทั้งหมด และลงมาอยู่กับพวกเราด้วยกระบวนการใหม่ ที่พวกเราเป็นคนพามันไปจนถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น วันแรกพี่นาฏใช้กระบวนการสลายความคิด ที่มักจะแว๊บเข้ามาในหัวขึ้นเรื่อยๆ ว่า "ท่านี้ถูกไหม" "คนอื่นจะมองอย่างไร" โดยให้บอกกับตัวเองว่าตำรวจมาแล้ว ให้ฆ่าตำรวจทิ้งซะ จนทุกคนพร้อมและก็เป็นวันที่ผมมาถึงพอดี

ย้อนกลับไปผมติดหลุมอารมณ์ ไม่รู้มีคนเป็นแบบนี้เยอะไหม คือไม่ได้มีความสุขแต่ก็ไม่ได้ทุกข์ แต่อยู่ในสภาวะเดิมนาน ๆ และออกไม่ได้ตั้งแต่อบรมเสร็จแถวอนุสาวรีย์มาจนขึ้นรถตู้ถึงมหาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ยาวถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ทันทีที่เข้ากระบวนการละคร พี่นาฏให้วอมโดยการใช้ร่างกายส่วนที่เราไม่ค่อยได้ใช้ เป็นการวาดเส้นไปในอากาศ เอาคิ้ววาดเป็นเส้นไปในอากาศ เอาศีรษะวาดเป็นรูป เคลื่อนที่ด้วยส่วนของร่างกายที่คนทั่วไปไม่ใช้กัน และให้พวกเราสังเกตสภาวะที่เกิดขึ้น ผมพบว่าผมหลุดจากหลุมของอารมณ์แล้วน่าแปลกใจ กายกับใจเชื่อมโยงกันจริง

ต่อมาเป็นแบบฝึกหัดกับผ้า เห็นเส้นของผ้าเมื่อเราดึง ลาก ชี้ เห็นความพริ้วไหว และใช้คุณสมบัติของผ้าสร้างสรรค์ท่าที่เราคิดออกมา เอาจากของเพื่อนมาปรับพัฒนาเพิ่มก็ได้ถ้าเราชอบ โยนผ้าไปและค่อยๆ มองดูผ้าตกลงมาช้าๆ สัมผัสพื้นผิวความนุ่ม ความแข็ง

จากนั้นคำถามที่น่าสนใจ "เราสนุกกับการใช้ส่วนไหนของร่างกายเรา" "ส่วนไหนของร่างกายเราที่ไม่ค่อยได้ใช้" "ส่วนไหนของร่างกายที่รู้สึกลำบากที่จะใช้" คราวๆประมาณนี้ และให้เราระบุลงบนภาพวาดร่างกาย และเราใช้ 5 ตำแหน่งในร่างกายเป็นแกนในการแสดงละคร ฟังไปก็น่าจะงงแน่ๆ เลย ผมเลยคิดว่าละครถ้าไม่ได้ประสบเองก็จะไม่เข้าใจ

และเราก็ได้ลงไปแสดงจริงๆ ตั้งแต่แบบฝึกหัด ซ้อมแสดง จนแสดงจริง สิ่งที่ผมสังเกตตลอดคือสภาวะภายใน การทันและการไม่ทันกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นเรียกสติ ความกังวลที่หลุดไปคิดถึงคนดู ความลังเลไม่แน่ใจ ที่ทำให้เราไม่ได้แสดงออกมาสุดจากภายในในช่วงแรก การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว การเข้าสู่สภาวะที่จิตนำร่างกาย การใช้จิตในรูปของจินตนาการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหว อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนเวที ความเหนื่อยของกล้ามเนื้อร่างกาย และการเป็นอิสระจากตัวตนที่ถูกสิ่งภายนอกครอบไว้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทั้งกระบวนการละคร ไปนั่งดูก็ไม่น่าจะเข้าใจ อ่านไปจะเข้าใจได้ยังไงเนี่ยแล้วใหญ่เลย

รู้สึกหวังเหมือนตอนที่เรียนไท๊เก๊กครั้งแรกว่าจะได้เจออาจารย์อีกครั้งและต่อยอดจากสิ่งที่ฝึกไป ครั้งนี้ก็เช่นกันก็หวังว่าจะกลับไปเรียนอีกถ้ามีโอกาส แต่ก็ยอมรับว่าหลังจากจบมาก็ยังไม่ได้ใช้กระบวนการละครอีกเลย เรายังหาจุดที่จะใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ ไม่ก็ยังเข้าไม่ถึงแก่นพอ ก็นะจะเอาอะไรมากกับการมาได้แค่ครึ่งวันแล้วแสดงเลย ได้สัมผัสสภาวะไว้ก็จะไม่ลืมและลองพยายามหาโอกาสเชิญสภาวะเดิมกลับมาอีกครั้ง

ตกลงได้สื่อสารไหมเนี่ยเราโมดูลนี้


Friday, June 15, 2018

เชื่อมโยง เปิดรับ ตั้งแกน

 ตั้งแกน



"ว่ากันว่าวิชากระบี่ต้องฝึกฝนกันชั่วชีวิต จิตใจก็เช่นเดียวกัน การที่จะทันและใช้งานพลังภายในที่มีอยู่ได้ ต้องผ่านการขัดเกลาฝึกฝนตลอดเวลา"

บทความนี้จะเล่าถึงการเดินป่านิเวศภาวนา ที่จะพาพวกเราได้กลับไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ขจัดเขม่าทางความคิดในชีวิตของเราออกไป การละครเพื่อเปิดรับสัญญาณที่อยู่รอบตัว เพื่อเปิดรับประสาทสัมผัสที่ขาดการใช้งานเมื่อเราอาศัยอยู่ในเมือง สุดท้ายจบด้วยไทเก๊ก ไทเก๋ การประยุกค์เอาศาสตร์ที่มีรากฐานของเต๋าเข้ามาปรับใช้ชีวิตได้อย่างลงตัว การก้าวกระโดดจากการเปลี่ยน Power เป็น Force มันคืออะไรและให้ผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะเริ่มทั้งหมดขอขอบคุณมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มา ณ ที่นี้ด้วยที่ให้โอกาสข้าพเจ้าได้เรียนรู้บทเรียนอันมีค่านี้ และการเดินทางในบทความต่อจากนี้คือการเติบโตจากผืนดินแห่งนี้

พวกเราเดินทางมายังค่ายเยาวชนเชียงดาว สถานที่ซึ่งมองเห็นดอยหลวงเชียงดาว อย่างชัดเจนหากแต่ดอยแห่งนี้ขี้อายเสียหน่อยหากได้เห็นก็จะเห็นไม่นานแล้วเธอก็จะหลบซ้อนอยู่หลังเมฆ หมอกอีกครั้ง เราตั้งธีมในครั้งนี้ว่าเป็นการเยียวยา หลายคนมีจุดเปลี่ยนในชีวิตเช่นออกจากงานเดิม เป็นเพราะค่ายนี้ทำให้เราเห็นตัวเองชัดขึ้นจึงเริ่มเดินทางต่อกันหลายคน หรือบางคนเพิ่งเรียนจบใหม่กำลังอยู่ในช่วงที่ชีวิตยังไม่แน่นอน การตั้งแกน ตั้งหลักใหม่เป็นสิ่งที่พวกเราหลายคนในที่นี้ได้กลับไปจากค่าย 5 วัน 4 คืนในที่แห่งนี้

การเดินป่านิเวศภาวนา

การอยู่ที่นี้เราได้ยินเสียงสายฝนแทบจะทั้งวัน เสียงแมลง นกและสายลม ผมสังเกตตัวเองจิตใจเข้าสู่สภาวะเสถียรได้อย่างรวดเร็ว หากสติหลุดเมื่อไรผมจะหันหน้าไปมองสีเขียวของป่าและมองก้อนเมฆที่เคลื่อนผ่านภูเขาและท้องฟ้า ฟังเสียงหยดน้ำฝนและมองมันเริงระบำตกกระทบผืนดิน เอาเท้าไปสัมผัสหญ้าที่กำลังชุ่มน้ำและแช่ไปกับสายน้ำที่ไหลจากภูเขาที่เหลือจากป่ากักเก็บน้ำไว้ มองดูแมลงแปลกตาที่เห็นเพียงในหนังสือสารานุกรมภาพสี่สีตอนวัยเด็ก

พี่นิคม ลุ่มแม่น้ำปิงเป็นคนพาพวกเราเดินเข้าไปยังเส้นทางธรรมชาติ ไปพร้อมกับเมล็ดมะค่าที่หน้าตาเหมือนยางลบสมัยก่อนที่มีสองสีลบได้ทั้งดินสอและปากกา เพื่อนำไปปลูกในป่าระหว่างทางเป็นการอนุรักษ์ป่าด้วยวิธีดั่งเดิม เส้นทางที่พวกเราเลือกเดินในครั้งนี้เป็นเส้นทางเรียบแม่น้ำ ที่จะพาพวกเราเชื่อมโยงกับธรรมชาติ

ผมชอบการเดินป่าเพราะเป็นการได้กลับมาอยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง และเพิ่มสัมผัสของตัวเองที่จะต้องมองรอบตัวอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็วางใจในธรรมชาติว่าเขาจะไม่ทำร้ายตัวเรา ในสภาวะดังกล่าวเราเคารพนอบน้อมต่อพลังของธรรมชาติ สายน้ำจัดเรียงก้อนหินและเติมลมหายใจกลับสู่น้ำ ป่าไม้โอบอุ้มน้ำฝนไว้กว่าร้อยละแปดสิบ สิ่งมีชีวิตที่เล็กเกินตาจะมองเห็นอาศัยอยู่บนก้อนหินเล็กก่อนหนึ่งจำนวนหลายล้านชีวิต และส่งผลต่อระบบนี้เวศน์แห่งนี้ มีเพียงคนเท่านั้นที่แปลกปลอมและไม่เป็นประโยชน์อันใดต่อป่าแห่งนี้ นั้นทำให้ทุกครั้งที่เดินป่าเราจะเคารพหินทุกก้อน น้ำสุดหยด ต้นไม้ทุกต้นซึ่งเราไม่อาจมีพลังที่จะสรรสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้

สิ่งที่กังวลใจเหมือนจะถูกโอบอุ้มไว้โดยธรรมชาติ เพื่อปล่อยให้ตัวเราสถิตอยู่กับก้าวเดินแต่ละก้าว ทุกวินาทีคือการเรียนรู้ใหม่ ความรู้ไม่ได้เกิดจากมนุษย์มันอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว และรอคอยให้พวกเราได้เรียนรู้ ชาวนวาโฮ (Navajo) ปราชญ์อินเดียนแดงท่านหนึ่งเคยเล่าเรื่องนี้ไว้ให้ผมฟัง หากเราเคารพธรรมชาติ ธรรมชาติจะเปิดให้เราได้เรียนรู้ ในทุกเม็ดทราย หยดน้ำและสายลม จงวางใจและเปิดใจเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน พี่นิคมเล่าว่ามนุษย์สมัยนี้ไม่สังเกตเห็นว่าโลกกำลังร่ำไห้ การร่ำไห้ของโลกนั้นแสดงออกผ่านสัตว์น้ำที่ตายเพราะขยะพลาสติก ผืนดินที่เสื่อมโทรม น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายอย่างรวดเร็ว



การละคร

พี่ก๋วยและพี่กอฟจากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) พาพวกเราเปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรสและการรับสัมผัสทางกาย ผ่านกระบวนการละคร ตอนเราเรียนหนังสือประสาทสัมผัสที่เราใช้มากที่สุดคือตาและหู ใช้ความคิดในการวิเคราะห์และจดจำ แต่เชื่อไหมคนเราจดจำเรื่องราวได้จากประสาทสัมผัสที่เหลือ หากแต่เราไม่ได้ใช้มันเพื่อการเรียนรู้ เราสามารถจดจำสัมผัสของมือคนรักได้เสมอ เราสามารถใช้กลิ่นในการย้อนระลึกไปถึงอดีตที่สวยงาม เพราะมนุษย์ใช้ประสาทสัมผัสเหล่านี้ในการอยู่รอดมาสามล้านปี

พวกเราอยู่รอดเพราะสังคมที่ดูแลกันและกัน ไม่ได้มีเพียงแค่ตัวฉัน(I) แต่ยังมีเธอ(You) และพวกเรา(We) ซึ่งทั้งหมดถูกร้อยเรียงการด้วยเส้นที่เรียกว่าความเชือมโยง(Connect) การเชื่อมโยงเป็นทักษะหรือสิ่งที่สำคัญมากของกระบวนกร ผมมีปัญหาเรื่องนี้พอสมควร มองย้อนกลับไปตอนเป็นครูและเป็นคนนำกระบวนการบ้างก็พบว่าทำได้บ้างทำไม่ได้บ้าง เลยถามว่าควรจะทำอย่างไร พี่ก๋วยก็ให้คำตอบว่าวางเป้าหมายของเราลง และฟังผู้เข้าร่วม การฟังมีสามระดับ 1) ฟังเพื่อตนเอง 2) ฟังเพื่อคู่สนทนา 3) ฟังเพื่อกลุ่ม

ถ้าผมจะเติมเรื่องที่ว่าทำอย่างไรให้เราเชื่อมโยงกับคนได้มากขึ้น คือการเปิดสัมผัสเลย การที่เราจะเปิดได้นั้นสภาวะผ่อนคลายเป็นสิ่งที่ช่วยได้ จะพบว่าถ้าเราอยู่ในธรรมชาติและวางงานทั้งหมดลง สภาวะเชื่อมต่อจะเกิดขึ้นได้ไวมาก มือถือเป็นตัวที่ขัดขวางเราไม่ให้เกิดการเชื่อมโยงได้โดยง่าย กลับมาฟังเพื่อคู่สนทนา คนเรามีหนึ่งปาก สองหู เราควรจะใช้สัดส่วนตามนั้นอาจารย์ท่านหนึ่ง(ในหนังสือ)เคยสอนผมไว้

พี่ก๋วยพาพวกเราเล่นกิจกรรมหลับตาสัมผัสใบหน้าเพื่อน และลองเดินหาเพื่อนโดยหลับตาอยู่และไม่ให้ใช้เสียง ผมพบเลยว่าในชั่วขณะนั้นการเรียนรู้ใหม่เกิดขึ้น การจดจำโดยใช้ดวงตาให้ข้อมูลที่แตกต่างไปจากสัมผัสของฝ่ามือ

ไทเก๊ก

พี่อ้วนเข้ามาด้วยบรรยากาศสบายเป็นกันเองอย่างมาก เริ่มต้นบอกว่าถ้าใครเบื่อจะเดินออกไปเลยก็ได้ และบอกอีกว่าตัวเขาเองก็อาจจะแป๊กอยู่บ้าง สิ่งที่เอามาสอนพวกเราในวันนี้เป็นการนำไทเก๊ก มาประยุกค์ใช้กับหลักปรัญชาในการใช้ชีวิต เพื่อให้พวกเราทุกคนพร้อมตั้งแกน และเผชิญหน้ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

"ตั้งแกน" คืออะไร? เราพูดถึงเรื่องตั้งแกนหลายครั้งแล้วก่อนจะมาถึงวันนี้ การอธิบายของพี่อ้วนจัดกิจกรรมผ่านการใช้ร่างกายให้เราเข้าใจ ไทเก๊กเป็นศาสตร์ที่มีลัทธิเต๋า(บางคนก็เรียกว่าเป็นศาสนา) เป็นปรัชญาพื้นฐาน ว่ากันว่าไทเก๊กเป็นตัวช่วยให้เราเข้าใจเต๋าได้ง่ายขึ้น แล้วผมก็ได้เจอกับตัวเองถึงแม้ว่าจะเป็นระยะเวลาเพียงหนึ่งวันแต่ก็เปิดโลกไปมากทีเดียว

เริ่มต้นพี่อ้วนใช้ทฤษฎีไข่แดง ไข่ขาวมาอธิบายจุดสบาย(Comfort zone)และสุดไม่สบาย(Uncomfort zone) เพื่อจะนำพวกเราไปสู่สภาวะขอบ ซึ่งก็คือสภาวะที่เราอยู่ในจุดที่ถ้าไปอีกจะสู้ไม่ไหวแล้ว แต่ถ้ารักษาสภาวะนี้ไว้ได้ก็จะเกิดการเรียนรู้และเติบโต ถ้าอธิบายเป็นภาพมากขึ้นให้นึกถึงเด็กคนหนึ่งในห้องเรียนคณิตศาสตร์ ถ้าเราให้โจทย์ง่ายเด็กก็ไม่ได้ไปที่ขอบเขาก็จะทำโจทย์ได้อย่างสนุกสนาน หากแต่ไม่เติบโตอะไร หากเราให้โจทย์ยากเกินไปเขาก็จะไม่ทำ คือสภาวะหลุดขอบให้ความยากมากเกินไป สภาวะขอบจะเป็นจุดที่แตะความสามารถของเขาพอดี ไม่ได้สบายแต่ก็ไม่ได้ยากจนทำไม่ได้

ด้วยพื้นฐานนี้การรักษาสภาวะขอบจะทำให้พวกเราเติบโตได้ พี่อ้วนใช้วิธีการเรียบง่ายในการให้เราเข้าใจสภาวะขอบ โดยการให้ผลักกันมีคนหนึ่งยืนตั้งแกนและมีอีกคนผลัก ให้คนผลักสังเกตสภาวะขอบของเพื่อน คนถูกผลักก็สังเกตสภาวะขอบของตัวเอง สภาวะขอบจะสังเกตได้จากเข้าที่เริ่มจะหลุดออกจากพื้นจังหวะนั้นเรียกว่าแตะขอบ ให้หยุดและรักษาไว้ ตอนทำกิจกรรมต้องใช้สัมผัสสูงมาก มองลมหายใจสังเกตการสั่นของร่างกายคู่ของเรา จบช่วงเช้าพวกเราเข้าใจแล้วว่าสภาวะขอบคืออะไร

กลับมาช่วงบ่าย เป็นการเริ่มให้เราเข้าใจการตั้งแกนอย่างจริงจัง การตั้งแกนในกายภาพของคนก็คือการยืนให้ตรง อืมยืนให้ตรงแค่นั้นหละ พี่อ้วนบอกว่าถ้าเรายืนได้ตรงเราก็จะรักษาสมดุลได้เองและเราจะใช้แรงน้อยลง โดยให้เราจินตนาการว่ามีกระบองปักตัวเราจากดวงจันทร์ทะลุหัวเราผ่านลำตัวและลงไปยังแกนโลก มันต้องลองเองจริงๆถึงจะเข้าใจ พอทำแล้วพบว่าเราไม่ได้ออกแรงอะไรมากเลย ไม่ได้เกรงไม่ได้ต้านกับมือของคู่เรา แต่เขากลับบอกว่าออกแรงมากขึ้นแล้วนะ

พี่อ้วนอธิบายความแตกต่างของ Power กับ Force ไว้ว่า Power เราใส่ใจไปที่ปัญหาหรือภัยอันตราย ที่เข้ามาเราจะตั้งมั่นป้องกันเอาไว้ก่อน เหมือนสภาวะแรกที่เราพยายามต้านมือของเพื่อนไม่ให้ผลักเราล้มลง แต่ถ้าเป็น Force เป็นการมีเป้าหมายอยู่ที่การรักษาสภาวะ ตั้งมั่นและสิ่งนั้นคือสิ่งที่เรียกว่าแกน เรามีแกนเราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราผ่อนคลาย และตั้งมั่น

กลับมาสู่ชีวิตจริง ไม่มีให้อิงอะไร... พอๆ เอาจริงจังในชีวิตจริงผมกลับมาแล้วเห็นเลยว่าที่ผ่านมาแกนเราอ่อนแอ พอมีเหตุการณ์อะไรเข้ามาเราก็จะโอนเอียง เช่นเพื่อนถามคำถาม เราก็จะตอบป้องกันตัวเองไว้ก่อนแล้ว ทั้งที่ไม่ได้มีใครว่าอะไรเลย หรือแม้แต่คิดไปสู่เรื่องต่างๆนาๆ แต่พอมีแกนซึ่งตอนนี้แกนผมคือการทำให้เราได้ข้อมูลผ่านการลงมือทำให้ไวที่สุด เราจะสนใจเฉพาะสิ่งนี้มองไปยังเป้าหมาย มากกว่าติดอยู่กับปัญหาเล็กน้อย และไม่คิดไปเอง ซึ่งทั้งหมดนั้นเริ่มต้นจากการที่เรามีแกนที่มั่นคงก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด

กลับมาสู่ปรัชญาเต๋า การมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมุ่งแต่เป้าหมายอย่างเดียวนั้นก็ไม่ดีเสมอไป หากมีสิ่งใดมากระทบเราจะไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือก็เซได้เหมือนกัน เต๋าจะเป็นภาพของหยิงหยาง เป็นการรักษาสมดุล เติบโตแบบบอลลูนที่ค่อยๆขยายออกทุกทิศทาง ไม่ใช่แค่มุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว ถ้าเป็นบริษัทถ้ามุ่งแต่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่ไม่สนใจสังคมข้างหลังเลยก็จะอยู่ไม่ได้ เราเรียนแต่สายคิดอย่างเดียว แต่ไม่มีศิลปะเลย พอเจอปัญหาบางอย่างก็ไม่สามารถประยุกค์ใช้ได้

Friday, June 8, 2018

Starfish Makerspace


วันนี้มีโอกาสลงพื้นที่ไปดูโรงเรียนที่มีความพิเศษแห่งหนึ่ง โรงเรียนบ้านปลาดาว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เด็กที่นี้เปิดเทอมมา 3 สัปดาห์แต่การเข้าแถวไม่ต้องมีครูมาบอก ไม่ต้องมีใครมาเตือนให้เข้าแถว ถึงแม้จะไม่ได้นิดสนิทตลอดเวลา แต่ก็เป็นความเรียบร้อยและรู้หน้าที่ที่ควรจะเป็น ถัดมาดูห้องทำอาหารนักเรียนประถม 1 กำลังจับมีดเล่มโตหั่นมะนาวเลาะเมล็ดออก และคั้นน้ำมะนาวออกจากผล นอกห้องมีนักเรียนอนุบาล 3 กลุ่มหนึ่งสนุกกับการพ่นสีสเปรย์กับผลงานของตัวเอง นักเรียนประถม 2 กำลังทำต้นแบบบ้านขึ้นมาจากไม้ไอศกรีมโดยที่ไม่ได้มีแบบมาให้พวกเขาออกแบบเองสร้างเอง ตัดมาที่ทานอาหารนักเรียนอนุบาลหนึ่งที่พึ่งเข้าโรงเรียนมาได้ 3 สัปดาห์พยายามเขี่ยอาหารที่อยู่ในถาดของตัวเองหกบ้าง หล่นบ้างแต่ก็ไม่ได้มีใครว่าอะไร เด็กทุกคนไม่มีข้อยกเว้นในความสามารถใดๆต้องล้างจานเองทั้งหมด


ที่นี้โรงเรียนบ้านปลาดาวที่ซึ่งเชื่อในทฤษฎีการเรียนรู้ Constructivism เชื่อว่าความรู้เกิดจากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ตัดสินใจเอง ไม่มีการสอน นักเรียนที่นี้มีช่วงเวลาเลือกเองว่าจะเข้าเรียนอะไร จะสร้างผลงานใด มีเพียงโค้ช (จะประจำที่ห้อง Makerspace) ที่คอยเป็นผู้ตั้งคำถาม และอำนวยความสะดวกต่างๆให้กับนักเรียน ระหว่างที่กำลังเขียนอยู่นั้นก็มีนักเรียนประถม 2 ถามโค้ชของเธอว่า "อันนี้ใช่น้ำตาลปี๊บหรือเปล่าค่ะ" โค้ชก็ถามกลับว่า "แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรหละ" นักเรียนคนนั้นก็ตอบว่า "ก็ชิมค่ะ" แล้วก็แกะหนังยางที่ผนึกถุงไว้ออกมาชิบ และนำไปใส่ส้มตำที่เพื่อนของเธอกำลังทำอยู่ เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากตัวเด็กเองอย่างแท้จริง


เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนผมรู้จัก Starfish ผ่านงานที่เข้าไปคุยและเริ่มศึกษาเรียนรู้มากขึ้นจากการถามวี (เพื่อนในวงการศึกษาคนหนึ่ง) ที่เคยไปดูงานมาครึ่งวันและพบว่าสิ่งที่เราเคยทำกับเด็กที่ผ่านมา มีคนทำแบบนี้และจริงจังด้วยในประเทศไทย และทิศทางเหมือนกันมาก เมื่อเกือบสองปีก่อนผมเคยไปช่วยกลุ่ม Little Builder ซึ่งใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) นั้นเป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักทฤษฎีการเรียนรู้ Constructivism พี่เต้ผู้ก่อตั้งโครงการเชื่อมั่นในสิ่งนี้มากและพยายามดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมา ผ่านกระบวนการพาลงชุมชนและให้เด็กแก้ไขปัญหา เมื่อหนึ่งปีก่อนโครงการ Summer school ที่ทำให้กับโรงเรียนวัดนาวง ผ่านกิจการเพื่อสังคมชื่อ Edwings ใช้รูปแบบการบูรณาการความรู้เข้ากับการเรียนรู้จากการทำโครงงาน (Project based learning: PBL) เราจัดหลักสูตรวิชาการในตอนเช้าและให้นักเรียนลงมือสร้างผลงานในตอนบ่าย โดยแบ่งห้องตามความสนใจของเด็ก



ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความบังเอิญ ความไม่รู้ หรืออะไรกันแน่ทำให้การเดินทางในครั้งนี้สะท้อนกลับไปยังสิ่งที่ทำว่ามันคล้ายคลึงกันมากขนาดนี้แต่เรากลับไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีคนทำ ที่ Starfish Makerspace จะแบ่งออกเป็น 4 ห้องเรียนด้วยกันได้แก่ ห้องทำอาหาร ห้องผ้า ห้องศิลปะ และห้องช่าง นักเรียนจะเลือกเข้าห้องเรียนเองตามความสนใจตั้งแต่อนุบาลและสามารถเปลี่ยนห้องเรียนได้ตลอดเวลา ตอนเช้าเรียน ไทย คณิต วิทย์ และตามด้วย Makerspace ส่วนช่วงบ่ายจะเป็นช่วงที่นักเรียนจะได้ทำ PBL โดยจะมีห้องให้นักเรียนได้ค้นคว้าหาข้อมูลเขียน วิเคราะห์สรุปความจากสิ่งที่ได้ค้นคว้า


ห้อง PBL ตื่นตาตื่นใจผมมาก เพราะเด็กประถม 2 ที่เข้าไปใช้ห้องมีเครื่องมือที่หลากหลายในการสืบค้นและทำรายงาน บางคนใช้ iPad ในการสร้าง Mind map ให้ Google เพื่อค้นหาข้อมูล มี check-list ที่ครูทำใน word ที่เด็กจะต้องเข้าไปเช็คตลอดเวลาว่าค้นหาอะไรไปแล้วบ้าง อะไรค้นหาไม่เจอบ้างครูไม่ได้เข้าไปสอนให้นักเรียนใช้วิธีการตามครูแต่อย่างใด หัวข้อที่นักเรียนเลือกก็เลือกตามความสนใจ กลุ่มเด็กผู้หญิงก็เริ่มจากคำถามว่าทำไมถึงตัวดำ แล้วก็ตั้งข้อคำถามที่ต้องทำการค้นคว้าต่อ หัดไปอีกฝั่งหนึ่งกลุ่มเด็กผู้ชายสนใจเรื่องตุ๊กแกก็ค้นและอ่านกันอย่างสนุกสนาน มองไปภาพรวมก็จะเห็นทั้งการใช้เทคโนโลยี กับการเขียนด้วยมือสลับกันไปอย่างลงตัว ไม่ทิ้งสิ่งใดไป


เมื่อสัปดาห์ก่อนผมไปเจอคุณหมอท่านหนึ่งตอนไปฟังเรื่อง Finger scan (เครื่องมือค้นหาตัวเองผ่านลายมือ) ซึ่งบางคนก็เชื่อ บางคนก็บอกว่าเป็นการลำเอียงทางสถิติ แต่ช่างเถอะประเด็นที่จะเล่าให้ฟังคือ คุณหมอก็มีความคิดสุดโต่งที่น่าสนใจ บอกว่าเด็กควรยกเลิกวิชาการให้หมดและปล่อยให้พวกเขาเล่นจนถึง ม.3 เพราะว่าความรู้เราสามารถเรียนภายในสามปีเพื่อเข้ามหาลัยได้ คำว่าเล่นในมุมของคุณหมอคือการฝึกทักษะ ซึ่งผมมองว่าสอดคล้องกับที่ Starfish กำลังทำอยู่


ด้านการพัฒนาการ Starfish มุ่งเน้นอยู่ 9 ด้านด้วยกันโดย 4 ด้านแรกจะเป็นเรื่องของสติปัญญา (Cognitive) ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง 4Cs = Critical Thinking, Creativity, Communication, Collaboration และอีก 5 ด้านที่เหลือเป็นเรื่องของสังคม (Social) ผมเคยถามว่าทำไมต้องเป็นเก้าอย่างนี้ ทางพี่แพร (ที่รับดูแลมูลนิธิอยู่ปัจจุบัน) ก็เล่าว่ามันไม่ได้ตายตัวว่าจะต้องเป็นเก้าสิ่งนี้ เพียงแต่สิ่งที่ทำรวมกับสิ่งที่ค้นคว้าเราได้ผลลัพธ์เหล่านี้ออกมา แต่ถ้าเปลี่ยนบริบททักษะที่ควรพัฒนาในเด็กก็อาจจะเปลี่ยนไป เช่นเด็กมัธยมที่มากับครอบครัวที่เป็นแรงงานข้ามชาติ พวกเขาควรจะต้องรู้ความฉลาดทางการเงิน (Financial Literacy) ก็ต้องใส่ให้เขา



ทักษะก็ต้องตามมาด้วยการประเมิน จุดบอดของการศึกษาไทยคือเราไม่สามารถหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการประเมินทักษะของคนได้ เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงยังคงมีแต่ O-net และทำไมเราถึงเน้นวิชาการมากมาย เพราะเราวัดทักษะอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ ผมไม่ได้บอกว่าเราวัดไม่ได้ซะทีเดียว เพราะถ้าเราเอาผู้เชี่ยวชาญมาอยู่กับเด็กในช่วงเวลาหนึ่ง สังเกตพฤติกรรมและการตัดสินใจก็พอจะประเมินทักษะของเขาได้ แต่ค่าใช้จ่ายหละ และความน่าเชื่อถือหละซึ่งทำให้เรายังไม่มีเครื่องมือวัดทักษะที่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ยุคสมัยนี้เราพูดถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 กันบ่อยมาก


การจะวัดทักษะทางความคิดเราสามารถดูจากผลงานหรือการสังเกตได้ แต่การวัดเรื่องสังคมต้องสังเกตอย่างเดียว ผมเลยพยายามเรียนรู้ว่าที่นี้เขาประเมินนักเรียนกันอย่างไร ก็พบว่าเขาใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมและถ่ายรูปไว้ เพราะโค้ชคงจะจดบันทึกไม่ทันแน่ เคยถามว่ามี Classdojo นะแต่เนื่องจากห้องเรียนมีการเปลี่ยนแปลงนักเรียนตลอดเวลาการใช้เครื่องมือดังกล่าวจึงไม่สะดวกนัก โค้ชจะสังเกตเช่น เด็กเข้าไปช่วยเพื่อน เด็กรับฟังความเห็นของเพื่อน เป็นต้นและจะถ่ายรูปไว้ บางครั้งดูจากผลงานได้ มีจุดที่ยังพัฒนาต่อไปได้อีกมากเช่นกัน ยิ่งเด็กอนุบาลความยากในการประเมินจะเพิ่มขึ้น เพราะเด็กอนุบาลอ่านไม่ได้และไม่สามารถเขียนสื่อความได้ดีนัก ต้องใช้การสังเกตและการพูดคุย


ถึงเวลาต้องกลับมาทบทวนงานตัวเองใหม่ คิดว่าคงจะมีจุดเปลี่ยนดีๆเกิดขึ้นแน่ (แค่อยากตัดจบเฉยๆใช่ไหมหละ)

Sunday, January 21, 2018

Splendor vs. Management

ถอดบทเรียนการบริหารผ่านเกม Splendor
ผมเคยเห็น Splendor มาได้ซักพักแล้ว พึ่งมีโอกาสได้เล่นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพราะไปอบรมค้างคืน ซึ่งบอร์ดเกมก็กลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของค่ายที่อบรมค้างคืนกันไปแล้ว ตัวผมเองไม่คิดว่ากติกาที่ง่ายๆ แต่มันจะมีเรื่องให้ขบคิดมากขนาดนี้
เป้าหมายของเกมคือใครคะแนนถึงตามเป้า (15 แต้ม) ก่อนชนะ โดยเราจะต้องใช้อัญมณีในการซื้อไพ่ที่มีแต้ม หรือไม่มีแต้ม ซึ่งทั้งสองแบบจะมี ความสามารถลดจำนวนการใช้อัญมณีสีใดสีหนึ่งลงได้ แต่ละครั้งเราจะต้องตัดสินใจว่า จะหยิบอัญมณี หรือจองไพ่ หรือซื้อไพ่ นอกนั้นก็จะเป็นกฎเสริม ถ้ามีไพ่สีนี้กี่ใบกี่ใบจะได้แต้มเพิ่มทันที ไม่มีหลักตายตัวว่าควรเล่นแบบไหน จึงเป็นเสน่ห์ของเกมนี้ไม่น้อยเลย ส่วนใครที่ไม่เคยเล่น สามารถเข้าไปอ่านคำอธิบายกติกาของเกมโดยละเอียด ตรงลิ้งก์ที่ผมแปะไว้ด้านล่างได้ (อ่าน Level 3)
ความจริงแล้วผมเล่นแพ้ทุกรอบเลย ทำให้ความเจ็บแค้นส่งผลต่อการวิเคราะห์เกม และนำไปสู่การเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นจริง ในการบริหารชีวิต หรือการทำงานของตัวเอง จะไล่การเรียนรู้ผ่านเกมไปก่อน แล้วจะตบด้วยความเป็นจริงอีกทีหนึ่งนะครับ
[1] ครั้งแรกที่ผมเล่น เราเป็นคนชอบสิ่งที่เรียกว่า Passive income ถ้าสนใจสมัครเข้ามาร่วมธุรกิจได้นะครับ ถุ้ยยย ไม่ใช่ จริงๆมันคือ Passive Gem ครั้งแรกที่เล่นมองว่าถ้าเราจ่ายน้อยๆ แล้วได้คุณสมบัติติดตัว เราน่าจะมีสภาพคล่องในการเล่นเกมตอนท้ายๆได้ ก็เก็บไพ่ต่ำๆ ที่ไม่ได้มีแต้มเลยครบทุกสีไปหลายใบ ผลปรากฏว่า แพ้ครับ
ก็กลับมามองดูว่า เฮ้ยยย เกิดอะไรขึ้นแพ้ได้ไง พอใช้หัววิศวะก็พบว่า อ้อออ เราไม่ได้ใช้ศักยภาพของไพ่ที่ซื้อมาทุกรอบอย่างเต็มที่นัก แล้วเราเสียรอบการเล่นไปฟรีๆ ถ้ามองภาษาวิศวะอุตสาหการ มันก็เหมือนเราเอาของมาเก็บในคลังแล้วเสียเวลาเปล่า เสียเวลาหามาในตอนต้น
โอเครอบใหม่เราจะดูแล้วว่าใช้เท่าไหร่จึงจะพอดี ไม่ซื้อไพ่มาเก็บเยอะเกินไป ไม่งั้นเราจะตามคนที่เก็บแต่แต้มไม่ทัน ควรรีบไต่ไปซื้อไพ่แพงๆให้ทัน มองดูจังหวะเวลาของคนรอบข้างว่า ถ้าเขาได้คะแนนประมาณนี้แล้ว เขาน่าจะไปอีกกี่รอบแต้มจะครบ ใช้การกะเอา
[2] เล่นอีกรอบก็แพ้อีก ก็เปลี่ยนกลยุทธ์แล้วนะทำไมแพ้ ก็พบว่าคนที่เล่นด้วยเขาคุมเกมวางแผนว่าจะเก็บสีไหนบ้าง มีการจองไพ่ที่ได้แต้มเยอะแต่การลงทุนต่ำไว้แต่แรกเลย แล้วค่อยๆไต่ลำดับซื้อไป เราก็เอาบ้าง ถือว่าตัวเองต้องมีเป้าหมายให้ชัด ไม่ซื้อไพ่สีมั่วซั่ว เน้นเฉพาะสีไป เรียกได้ว่ามีเป้าหมายไว้พุ่งชน เราจะไม่หยุดชมดอกไม้ข้างทาง จะอยู่กับเธอเพียงคนเดียว หยุดๆเพ้อไปไกลแล้ว
[3] กลับมาดวนอีกรอบ ก็แพ้อีกครั้งนี้เฉือนชนะไปนิดเดียวเอง ซึ่งก็พบว่าเฮ้ยยย มันมีการตัดหน้ากันด้วย ศัตรู(เฉพาะในเกม) เขาอ่านเกมเราออกแล้ว ไปดักเราข้างหน้า เพื่อให้เราเสียจังหวะในการเล่น ในขณะเดียวกันการตัดหน้าก็ต้องทำให้ตัวเองได้เปรียบด้วย ซึ่งยากมากๆ ยอมรับชาบูจริงๆ จบเกมวันนั้น ห้าทุ่มเสร็จผมนี้กลับมานอนคิดทั้งคืนเลยว่าเพราะอะไรหว่า ก็เลยมองภาพชีวิตจริงของตัวเองขึ้นมา
รอบแรกที่เล่นผมมองเทียบกับชีวิตของตัวเอง เราเป็นคนชอบเรียน ชอบเก็บเกี่ยวอ่านหนังสือ มีคอร์สอะไรไปหมด โดยเฉพาะของฟรีจะชอบมาก แต่เราลืมไปว่าเราเรียนสะสมความรู้หรือทักษะติดตัวไปนั้นหนะ ได้ใช้ตอนนั้นหรือเปล่า หรือมันมีอะไรที่ควรเรียนไปใช้ตอนนั้นแล้วเราไม่ได้เรียนหรือไม่ ซึ่งก็พอจะประเมินได้คราวๆ มันทำให้เราดำเนินชีวิตไปได้ช้า หรือไม่มีประสิทธิภาพพอ ถ้าไม่ได้มองถึงเรื่องเรียนเพื่อสุนทรีย์ของตัวเองหนะนะ เลยน่ากลับมาคิดกับตัวเองว่า เราควรจะเลือกสะสมความรู้ ให้เหมาะกับเวลาและเป้าหมายด้วย [1, 2]
อย่าลืมว่าเกมนี้เราไม่ได้เล่นเพียงคนเดียว มีคนจับตาดูเราอยู่ ถ้าเราวางแผนที่ไม่รอบคอบพอ เจอคู่แข่งตัดหน้า เราก็เสียโมเมนตั้มของตัวเองไปได้ง่ายๆเลย นึกถึงงานที่ทำอยู่คิดว่าคนในวงการก็คงมองๆกันอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราวางแผนได้ลึกหรือยัง ถ้าเขาตัดหน้าเราจะทำอย่างไร ร่วมมือ เปลี่ยนทิศ หรือสู้มัน รู้สึกว่าไม่ควรนิ่งนอนใจกับโลก Purple Ocean (มันคลุมเคลือไม่รู้จะ Red - ตลาดแข่งขันสูง หรือ Blue - ตลาดบุกเบิกใหม่ดี) เท่าไหร่นัก [3]
คนเราไม่ได้มีเวลามากนัก การบริหารจัดการเวลางาน ให้มันสอดประสานกับเป้าหมายของตัวเราเองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ผมเคยเชื่อว่ามนุษย์เป็นได้ทุกอย่าง ซึ่งมันไม่จริงเราเป็นได้แค่บางอย่างในเวลาที่จำกัดเท่านั้น การเลือก ตัดออกสิ่งที่ไม่จำเป็น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
ชวนไปเล่นเกมนี้ได้นะครับ อยากชนะบ้าง ฮือออออ
x