Wednesday, September 26, 2018

Module 4: การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง - มนุษย์หุ่นกระบอก


มนุษย์หุ่นกระบอก เชือกด้ายพาหุ่นกระบอกไปที่ต่าง ๆ ไปทำในเรื่องเดิมและได้รับผลเดิม แม้ว่าไม่พอใจกับสิ่งที่เป็น หุ่นกระบอกก็ยังคงตามเส้นเชือกไปวันแล้ววันเล่า และคิดว่านั้นคือเจตนาของตนเอง เพราะสายตามองไม่เห็นเส้นด้ายที่นำพาและกีดกันวิถีชีวิต ให้ยังคงวนเวียนอยู่กับความทุกข์และรู้สึกดีขึ้นเมื่อความทุกข์คลายลง วนเวียนแบบนี้ซ้ำไป จนวันหนึ่งมีเสียงบอกให้หุ่นกระบอกลองมองเข้าใจที่หัวใจและสำรวจตัวเอง ทำให้มองเห็นเชือกที่นับวันจะพันกันมากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัววันนี้หุ่นกระบอกรู้แล้วว่าแท้จริงปัญหาอยู่ที่ตัวหุ่นกระบอกเอง และทนทุกข์อยู่กับความจริงไม่นานก็เริ่มที่จะสละเชือกบางเส้นทิ้ง เหลือเพียงสิ่งที่จำเป็นและมีคุณค่ากับตัวหุ่นกระบอกเอง เหมือนเวทมนต์ เชือกที่น้อยลงทำให้หุ่นเห็นว่าตนสามารถทำอะไรได้มากกว่า เป็นอิสระมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น

ช่วงโมดูล 4 มีเหตุให้ต้องสละช่วงอบรมไปจนได้เข้าร่วมไม่กี่วัน แต่ก็ได้รับโอกาสให้ยังคงร่วมกระบวนการต่อได้ ต้องขอบคุณตัวเองที่ยังคงเลือกที่จะเดินหน้าต่อ และขอบคุณอาจารย์ที่เปิดรับอย่างใจกว้างให้ผมเข้าร่วมวิชาละครด้วย จากทีแรกคิดว่าจะไม่เข้าแล้วเพราะละครคือประสบการณ์ ถ้าไม่เข้าร่วมกระบวนการก็เหมือนนั่งดูละครอยู่ในโรง ผมคิดแบบนั้น ... ครั้งนี้ได้เรียนรู้กับพี่นาฏจากกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว กระบวนการละครมีส่วนที่เหมือนจากมะขามป้อม (มูลนิธิสื่อชาวบ้าน ใช้ละครเพื่อการสื่อสาร) และต่าง ซึ่งผลสุดท้ายแล้วผมรู้สึกลงไปสู่ภายในจิตใจได้ลึกขึ้น (ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองอุปทานไปเองหรือเปล่า) ก่อนจะไปถึงตรงนั้นซึ่งอยากจะเล่าสภาวะอย่างละเอียดให้ฟังขอย้อนวันแรกเท่าที่ฟังจากคนอื่นให้ฟังก่อนละกัน

เพื่อนๆ ที่เข้ามาเรียนละครมีบางส่วนยังรู้สึกไม่มั่นใจกับตัวเอง วันแรกเป็นไปด้วยความลำบากมาก พี่นาฏเล่าว่าเทกระบวนการที่เตรียมมาอย่างดีทิ้งไปทั้งหมด และลงมาอยู่กับพวกเราด้วยกระบวนการใหม่ ที่พวกเราเป็นคนพามันไปจนถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น วันแรกพี่นาฏใช้กระบวนการสลายความคิด ที่มักจะแว๊บเข้ามาในหัวขึ้นเรื่อยๆ ว่า "ท่านี้ถูกไหม" "คนอื่นจะมองอย่างไร" โดยให้บอกกับตัวเองว่าตำรวจมาแล้ว ให้ฆ่าตำรวจทิ้งซะ จนทุกคนพร้อมและก็เป็นวันที่ผมมาถึงพอดี

ย้อนกลับไปผมติดหลุมอารมณ์ ไม่รู้มีคนเป็นแบบนี้เยอะไหม คือไม่ได้มีความสุขแต่ก็ไม่ได้ทุกข์ แต่อยู่ในสภาวะเดิมนาน ๆ และออกไม่ได้ตั้งแต่อบรมเสร็จแถวอนุสาวรีย์มาจนขึ้นรถตู้ถึงมหาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ยาวถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ทันทีที่เข้ากระบวนการละคร พี่นาฏให้วอมโดยการใช้ร่างกายส่วนที่เราไม่ค่อยได้ใช้ เป็นการวาดเส้นไปในอากาศ เอาคิ้ววาดเป็นเส้นไปในอากาศ เอาศีรษะวาดเป็นรูป เคลื่อนที่ด้วยส่วนของร่างกายที่คนทั่วไปไม่ใช้กัน และให้พวกเราสังเกตสภาวะที่เกิดขึ้น ผมพบว่าผมหลุดจากหลุมของอารมณ์แล้วน่าแปลกใจ กายกับใจเชื่อมโยงกันจริง

ต่อมาเป็นแบบฝึกหัดกับผ้า เห็นเส้นของผ้าเมื่อเราดึง ลาก ชี้ เห็นความพริ้วไหว และใช้คุณสมบัติของผ้าสร้างสรรค์ท่าที่เราคิดออกมา เอาจากของเพื่อนมาปรับพัฒนาเพิ่มก็ได้ถ้าเราชอบ โยนผ้าไปและค่อยๆ มองดูผ้าตกลงมาช้าๆ สัมผัสพื้นผิวความนุ่ม ความแข็ง

จากนั้นคำถามที่น่าสนใจ "เราสนุกกับการใช้ส่วนไหนของร่างกายเรา" "ส่วนไหนของร่างกายเราที่ไม่ค่อยได้ใช้" "ส่วนไหนของร่างกายที่รู้สึกลำบากที่จะใช้" คราวๆประมาณนี้ และให้เราระบุลงบนภาพวาดร่างกาย และเราใช้ 5 ตำแหน่งในร่างกายเป็นแกนในการแสดงละคร ฟังไปก็น่าจะงงแน่ๆ เลย ผมเลยคิดว่าละครถ้าไม่ได้ประสบเองก็จะไม่เข้าใจ

และเราก็ได้ลงไปแสดงจริงๆ ตั้งแต่แบบฝึกหัด ซ้อมแสดง จนแสดงจริง สิ่งที่ผมสังเกตตลอดคือสภาวะภายใน การทันและการไม่ทันกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นเรียกสติ ความกังวลที่หลุดไปคิดถึงคนดู ความลังเลไม่แน่ใจ ที่ทำให้เราไม่ได้แสดงออกมาสุดจากภายในในช่วงแรก การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว การเข้าสู่สภาวะที่จิตนำร่างกาย การใช้จิตในรูปของจินตนาการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหว อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนเวที ความเหนื่อยของกล้ามเนื้อร่างกาย และการเป็นอิสระจากตัวตนที่ถูกสิ่งภายนอกครอบไว้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทั้งกระบวนการละคร ไปนั่งดูก็ไม่น่าจะเข้าใจ อ่านไปจะเข้าใจได้ยังไงเนี่ยแล้วใหญ่เลย

รู้สึกหวังเหมือนตอนที่เรียนไท๊เก๊กครั้งแรกว่าจะได้เจออาจารย์อีกครั้งและต่อยอดจากสิ่งที่ฝึกไป ครั้งนี้ก็เช่นกันก็หวังว่าจะกลับไปเรียนอีกถ้ามีโอกาส แต่ก็ยอมรับว่าหลังจากจบมาก็ยังไม่ได้ใช้กระบวนการละครอีกเลย เรายังหาจุดที่จะใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ ไม่ก็ยังเข้าไม่ถึงแก่นพอ ก็นะจะเอาอะไรมากกับการมาได้แค่ครึ่งวันแล้วแสดงเลย ได้สัมผัสสภาวะไว้ก็จะไม่ลืมและลองพยายามหาโอกาสเชิญสภาวะเดิมกลับมาอีกครั้ง

ตกลงได้สื่อสารไหมเนี่ยเราโมดูลนี้


No comments:

Post a Comment